เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบตรงไปยังการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย ที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อรายได้ประชาชนทั้งลดลงหรือต้องตกงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มี ‘หนี้’ ยิ่งอยู่ยากกว่าเดิม
คนไทยมีหนี้มากแค่ไหน?
เมื่อดูข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันคนไทยมีหนี้ (ในระบบ) กว่า 21 ล้านคน แต่ถ้าดูหนี้ครัวเรือนของไทยต่อ GDP อยู่ที่ 78.6% ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในเอเชียเป็นรองจากเกาหลีใต้ ซึ่งที่อยู่ 97.7% เท่านั้น (ปี 2561)
ขณะที่เจาะลึกลงมาจะเห็นว่าคนไทยมีหนี้เยอะขึ้นและเร็วขึ้น (ปี 2561) สัดส่วนคนมีหนี้มากกว่า 30% และค่ากลางหนี้ต่อหัวอยู่ที่ 150,000 บาท แต่ที่หลายฝ่ายจับตามองคือ ‘หนี้เสีย’ เพราะคนไทยที่มีหนี้ 21 ล้านคน เป็นหนี้เสีย (ผิดนัดจ่ายหนี้มากกว่า 90 วัน) ถึง 3 ล้านคน คิดเป็น 15.9%
ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) พบว่า ในปี 2561 หนี้ของคนไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มมาจากการบริโภค เห็นได้จากหนี้หรือสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลมีสัดส่วนสูงถึง 34% หนี้รถมีสัดส่วน 25% ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัย (สินเชื่อบ้าน) มีสัดส่วน 40% และหนี้อื่นๆ อีก 1% ซึ่งเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์และอังกฤษ ที่หนี้จากการบริโภคมีสัดส่วนไม่ถึง 5%
ดังนั้นสถานการณ์หนี้ในไทยที่มีความเสี่ยงอยู่แล้วเจอกับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งกระทบรายได้คนไทย โดยข้อมูลจากธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ปีนี้คนไทยเสี่ยงจะตกงานถึง 8.3 ล้านคน ทำให้ภาครัฐ ผู้กำกับธุรกิจธนาคารอย่าง ธปท. และธนาคารพาณิชย์หันมาออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนด้านการเงินไม่ให้กลายเป็นหนี้เสียมากขึ้น
ปีนี้ ธปท. ออกมาตรการช่วยลูกหนี้ 7.2 ล้านล้านบาท 12.5 ล้านบัญชี?
ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถึงตอนนี้มี 2 ระยะด้วยกัน เช่น การเลื่อนพักชำระหนี้ การขยายเวลาชำระหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ฯลฯ จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 12.5 ล้านบัญชี หรือมูลค่าหนี้กว่า 7.2 ล้านล้านบาท
แน่นอนว่ามาตรการที่ออกมานี้อาจไม่ได้ครอบคลุมคนไทยที่มีหนี้ทั้ง 21 ล้านคน แต่มาตรการช่วยเหลือต้องมีการปรับตามสถานการณ์ โดย ธปท. ประเมินและคาดว่า
“มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือในสัดส่วนสูงที่ไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือต่อไปเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่ได้รับความช่วยเหลือ และในระยะต่อไป ธปท. ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลลูกหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของแต่ละราย”
แต่ปัญหาจากวิกฤตยังไม่สิ้นสุด เพราะลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลือมีอีกหลายด้าน โดยกลยุทธ์หลักที่ ธปท. เลือกใช้คือ การเร่งการปรับโครงสร้างหนี้ จนเกิดขึ้นมาเป็นโครงการสำหรับลูกหนี้ธุรกิจ ‘DR BIZ’ (โครงการดีอาร์บิส) ให้ลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายแห่งบริหารจัดการหนี้กับทุกเจ้าแห่งแบบเบ็ดเสร็จ
ส่วนลูกหนี้รายย่อย ธปท. ออก ‘วิธีการรวมหนี้’ (Debt Consolidation) ซึ่งจะเปิดให้คนที่มีสินเชื่อรายย่อยในสถาบันการเงินเดียวกัน (สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล) มาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านการรวมใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเดียวกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (สินเชื่อบ้าน) เพื่อลดดอกเบี้ยและภาระการผ่อน
รัฐ-แบงก์ชาติ-เอกชนออกมาตรการแก้หนี้ แต่เวิร์กไหม?
หากดูวิธีการรวมหนี้กับสินเชื่อบ้านของ ธปท. อาจไม่ได้ต่างจากการบริหารหนี้ที่ประชาชนสามารถทำได้อยู่แล้ว เช่น การรีไฟแนนซ์สินเชื่อรายย่อยเพื่อรวมหนี้เป็นที่เดียวกัน หรือการขอวงเงินเพิ่มเติมกับสินเชื่อบ้านที่มีดอกเบี้ยต่ำเพื่อไปชำระสินเชื่อดอกเบี้ยสูง ฯลฯ ดังนั้นสิ่งที่ ธปท. หากจะทำมาตรการที่แตกต่างและประชาชนเข้าใช้มาตรการได้มากขึ้น อาจต้องสร้าง ‘การรวมหนี้ที่สามารถข้ามระหว่างสถาบันการเงินได้’ หรือมาตรการอื่นๆ ที่สามารถเข้าถึงคนที่จำนวนมาก
ปัจจุบันคนไทยมีหนี้หลายประเภทในหลายสถาบันการเงิน แต่สินเชื่อบ้านมักมีสินเชื่ออยู่ 1-2 แห่งเท่านั้น มาตรการรวมหนี้ของ ธปท. อาจใช้ได้เพียงกลุ่มคนเข้าถึงและใช้สินเชื่อหลายชนิดกับธนาคารขนาดใหญ่เท่านั้น
ที่ผ่านมามาตรการลดหนี้เสียของ ธปท. มีทั้งเรื่องอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ (DSR) คลินิกแก้หนี้ให้กับกลุ่มคนที่เป็นหนี้เสียแล้ว เว็บไซต์ทางด่วนแก้หนี้ ฯลฯ แต่สำหรับกลุ่มที่ต้องการบริหารก่อนเป็นหนี้เสีย แม้จะมีการรณรงค์สร้างความรู้ก่อนสร้างหนี้ แต่ถือว่าคนที่ต้องการบริหารหนี้อาจมีทางลัดในการแก้หนี้น้อยกว่าคนที่เป็นหนี้เสียแล้ว
ด้าน ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีเอ็มบี หรือธนาคารทหารไทย กล่าวว่า มาตรการรวมหนี้ของ ธปท. จะได้ผลดีที่สุดกับคนที่มีสินเชื่ออยู่ในสถาบันการเงินเดียวกันและในกลุ่มคนที่มีภาระหนี้ต่ำกว่ารายได้ เพราะสามารถบริหารหนี้ผ่านสินเชื่อต่างได้มากกว่า
ทั้งนี้ทางออกในการบริหารหนี้แนะนำว่าต้องรู้จักหนี้ของตนเองทั้งหมด เข้าไปปรึกษากับสถาบันการเงินเพื่อหาวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ดีขึ้น โดยปัจจุบันแม้ว่า ธปท. จะออกมาตรการให้รวมหนี้ได้ในสถาบันการเงินเดียวกัน ขณะนี้ทีเอ็มบีและธนชาตรวมกันแล้ว ดังนั้นประชาชนจะสามารถรวมหนี้ รวมสินเชื่อระหว่างธนชาตและทีเอ็มบีได้ด้วย
ล่าสุดทางธนาคารตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญหนี้ชื่อ Debt Advisory คาดว่าจะมีพนักงานราว 100 คนเพื่อให้คำปรึกษากับลูกค้าในการบริหารจัดการหนี้เพื่อลดภาระในการผ่อนชำระหรือลดภาระดอกเบี้ยลง
ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
มากกว่าปัญหาหนี้ คือรายได้หดหาย-คนตกงาน
ปิติกล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทยเติบโตเร็วมากจนกลายเป็นปัญหาพื้นฐานใหญ่ของประเทศ
“คนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และการวางแผนด้านการเงิน โดยช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนที่เป็นหนี้และสถาบันการเงินตระหนักถึงปัญหาที่ซ่อนไว้ ซึ่งถูกเร่งออกมาชัดเจนเร็วขึ้น ทำให้เห็นว่างานที่มั่นคงก็ไม่แน่นอน คนที่มีหนี้อยู่แล้วก็เป็นหนี้หนักขึ้น คนที่ยังไม่เคยเป็นหนี้และไม่เคยวางแผนเพื่อจะเป็นหนี้ก็กลับเป็นหนี้ครั้งแรกในช่วงเวลาที่ขาดรายได้”
ขณะที่ปัจจัยซึ่งสะท้อนว่ารายได้ของคนไทยลดลง เช่น ข้อมูลด้านแรงงานของไทยยังไม่ชัดเจนนัก ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่มีข้อมูลแรงงานนอกระบบที่ครบถ้วน ดังนั้นจากที่สภาพัฒน์ช่วงต้นปี 2563 คาดการณ์ว่าจะมีแรงงานไทยตกงานกว่า 8.4 ล้านคน จึงไม่ใช่บรรทัดฐานเดียวกับการแถลงข่าวของสภาพัฒน์หลังไตรมาส 2/63 ที่ว่า ช่วงที่ผ่านมามีคนไทยตกงานจริงราว 400,000 คน ซึ่งเป็นเฉพาะตัวเลขแรงงานไทยในระบบประกันสังคมเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ศูนย์บริหารเศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่ตั้งขึ้นใหม่โดยมีการบริหารสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนโครงสร้างทีมเศรษฐกิจเดิม โดยในงานแถลงข่าว ดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการจ้างงานยังมีในกลุ่มอาชีพอิสระ ซึ่งยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ตอนนี้จึงต้องดึงข้อมูลจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน (เงินเยียวยา 5,000 บาท) ราว 15-16 ล้านคน เพื่อมาดูว่ากลุ่มนี้ยังมีงานทำหรือไม่ และจะมีการทำมาตรการเพิ่มการดูแลอย่างไร
ขณะที่ ธปท. นักวิเคราะห์ภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐมองว่า ปัญหาหลักของเศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่งมีต้นตอมาจาก ‘รายได้ที่หายไป’ และในสถานการณ์วิกฤตนี้ เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวรายได้ของประเทศ ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยวยังพึ่งไม่ได้ จึงต้องเร่งเครื่องจากภาครัฐในการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 เบิกจ่ายวงเงินกู้ 400,000 ล้านบาทเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมออกมาอย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ จากปัจจุบันที่สามารถเบิกจ่ายเพียง 10% หรือราว 40,000 ล้านบาทเท่านั้น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: