×

กต. เผย มิ.ย. 65 มีคนไทยอยู่ในเกาหลีใต้แบบผิด กม. 1.3 แสนราย เตือนลักลอบทำงานผิดทั้ง กม.-กระทบภาพลักษณ์คนไทย

โดย THE STANDARD TEAM
12.08.2022
  • LOADING...
คนไทยในเกาหลีใต้

วานนี้ (11 สิงหาคม) ณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวจากกรณีที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับกรณีคนไทยเดินทางไปจังหวัดเชจู ประเทศเกาหลีใต้ และถูกปฏิเสธให้เข้าเมืองและถูกส่งกลับโดยทางการเกาหลีใต้ กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจงดังนี้

 

ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ได้ปฏิเสธการเข้าเมืองของคนไทยจำนวนมาก เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า บุคคลดังกล่าวน่าจะเข้าเมืองด้วยวัตถุประสงค์ในการลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ซึ่งรวมถึงกรณีกลุ่มคนไทยที่เดินทางไปจังหวัดเชจูข้างต้น

 

ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นมา ผู้ถือหนังสือเดินทางบุคคลธรรมดาของไทยสามารถเดินทางไปเที่ยวเกาหลีใต้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา อย่างไรก็ดี ผู้เดินทางต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติของทางการเกาหลีใต้ล่วงหน้าก่อนเดินทางไปเกาหลีใต้ ดังนี้


 

  1. ขอรับ K-ETA (Korea Electronic Travel Authorization) มีรูปแบบคล้ายวีซ่า ซึ่งต้องกรอกแบบฟอร์มสมัครขอ K-ETA ทางระบบออนไลน์ และต้องรอให้ได้รับอนุมัติก่อน จึงจะเช็กอินเพื่อขึ้นเครื่องบินเดินทางไปเกาหลีใต้ได้

 


2. ขอ Q-Code ทางระบบออนไลน์ ผู้เดินทางต้องกรอกรายละเอียดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ผลการตรวจโควิดแบบ ATK ที่ผลออกไม่เกิน 24 ชั่วโมง หรือผลการตรวจโควิดแบบ RT-PCR ที่ผลออกไม่เกิน 48 ชั่วโมง ก่อนขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปเกาหลีใต้ โดยผู้ที่ได้รับ Q-Code แล้ว จะสามารถเดินทางเข้าเกาหลีใต้โดยสะดวก และไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มรายงานผลการตรวจโควิด หรือการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดก่อนเดินทางเข้าเกาหลีใต้อีก 

 

สำหรับคนไทยที่เดินทางไปยังเกาะเชจูของเกาหลีใต้นั้น แม้ว่าจะยังไม่ต้องขอรับ K-ETA ในตอนนี้ แต่ในอนาคตอันใกล้ทางการเกาหลีใต้กำลังจะปรับให้ต้องมี K-ETA ล่วงหน้าก่อนเดินทางไปเที่ยวเกาะเชจูด้วย และสำหรับผู้ที่เดินทางไปเที่ยวเกาะเชจูโดยไม่ได้รับอนุมัติ K-ETA จะไม่สามารถเดินทางต่อไปยังเกาหลีใต้ในส่วนภาคพื้นทวีปได้ และผู้เดินทางที่เคยถูกปฏิเสธ K-ETA ในการเดินทางเข้าเกาหลีใต้ ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าเกาะเชจู

 

แม้ว่าคนไทยที่ได้รับอนุมัติ K-ETA ให้ขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปเกาหลีใต้ได้แล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลีใต้มีอำนาจในการอนุมัติ หรือไม่อนุมัติให้เข้าเกาหลีใต้ได้ หากสัมภาษณ์แล้วยังมีข้อสงสัยว่า คนไทยอาจเดินทางเข้าเกาหลีใต้เพื่อลักลอบทำงานในเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมาย หรือเหตุผลอื่นๆ โดยคนไทยที่ไม่ได้รับอนุมัติให้เข้าเกาหลีใต้ จะถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ส่งกลับประเทศไทย โดยสายการบินที่นำคนไทยเดินทางไปเกาหลีใต้โดยเร็วที่สุด

 

ขอให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ ตรวจสอบข้อมูลกฎเกณฑ์การเดินทางเข้าเกาหลีใต้และเอกสารการเข้าเมืองให้ครบถ้วน โดยสามารถศึกษาข้อมูลได้ตาม QR Code บนภาพฉาย (https://www.immigration.go.kr/immigration_eng/index.do) รวมทั้งสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สอท. เกาหลีใต้ / ปทท. รวมทั้งหมายเลขสายด่วน สอท. ณ กรุงโซล

 

ทั้งนี้ สถานะล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2565 มีคนไทยพำนักอยู่ในเกาหลีใต้ทั้งสิ้น 181,783 คน ในจำนวนนี้เป็นคนไทยที่พำนักผิดกฎหมายจำนวน 139,245 คน และมีนักโทษคนไทยซึ่งทำผิดคดีต่างๆ ตามกฎหมายเกาหลีใต้ทั้งสิ้น 532 คน

 

สำหรับคนไทยที่ได้รับอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ให้เดินทางเข้าเกาหลีใต้ได้แล้ว แต่ต่อมากระทำผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ดังสาเหตุต่อไปนี้ จะได้รับโทษดังนี้

 

  1. พำนักอยู่ในเกาหลีใต้เกิน 90 วัน จะถูกลงโทษให้ชำระค่าปรับตามจำนวนปีที่พำนักผิดกฎหมาย ซึ่งสามารถเลือกไม่ชำระค่าปรับได้ แต่จะไม่สามารถเดินทางกลับมายังเกาหลีใต้ได้อีกในอนาคต รวมทั้งถูกกักตัวในสถานกักกันประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนถูกส่งตัวกลับประเทศไทย โดยคนไทยที่กระทำผิดกฎหมายต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับประเทศไทยด้วยตนเอง

 

  1. กรณีลักลอบทำงานแบบผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ หากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเกาหลีใต้จับกุม ก็จะถูกกักตัวในสถานกักกัน โดยหากไม่พบว่ามีความผิดอื่น (เช่น ยาเสพติด, นายหน้า, เมาแล้วขับ, ฉ้อโกง หรือคดีอื่นๆ) ปกติจะถูกส่งกลับประเทศไทยภายใน 1 สัปดาห์ โดยคนไทยที่กระทำผิดกฎหมายต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับประเทศไทยด้วยตนเอง

 

กระทรวงการต่างประเทศขอย้ำเตือนพี่น้องคนไทย อย่าลักลอบทำงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการละเมิดกฎหมายท้องถิ่นและต้องรับโทษแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์คนไทยในต่างประเทศอย่างมากด้วย

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X