×

สภาลงมติเอกฉันท์ เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช. เหตุ ศอ.บต. ขาดความเชื่อมโยงประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
10.07.2024
  • LOADING...

วันนี้ (10 กรกฎาคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว

 

จาตุรนต์ ฉายแสง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว อภิปรายหลักการของร่าง พ.ร.บ. โดยระบุว่า กรรมาธิการได้ใช้ร่าง พ.ร.บ. ที่ ชูศักดิ์ ศิรินิล เสนอมาเป็นร่างหลักในการพิจารณา จากที่มีผู้เสนอมาทั้งหมด ผลการพิจารณาทั้ง 6 มาตรา กรรมาธิการฯ สรุปได้ดังนี้ 

 

1) คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า เมื่อมีการยกเลิกคำสั่ง คสช. ดังกล่าว จะมีผลให้ ศอ.บต. ที่แต่งตั้งโดยคำสั่งนั้นสิ้นสุดลง รวมถึงผลของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง ตลอดจนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง และอ้างถึงสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประธานสภาที่ปรึกษาฯ ที่ถูกงดบังคับใช้โดยคำสั่ง คสช. นั้น กลับมามีผลบังคับใช้เช่นเดิม

 

2) คณะกรรมาธิการฯ ได้เพิ่มบทบัญญัติใหม่ขึ้น 1 มาตรา เพื่อกำหนดกรอบเวลาในการแต่งตั้งสภาที่ปรึกษาฯ ให้ชัดเจน และได้เพิ่มเติมเหตุผล ข้อสังเกต ของร่าง พ.ร.บ. ให้ ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไข โดยให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน รวมถึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

จาตุรนต์กล่าวต่อไปถึงที่มาของเหตุผลและข้อสังเกตหลายประการ เนื่องจากคณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาผลของคำสั่ง คสช. ที่ 14/2559 ทำให้เราเห็นว่า ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา คำสั่งนี้ทำให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ซึ่งไม่เชื่อมโยงกับประชาชน ทำให้ประชาชนขาดช่องทางเชื่อมโยงกับการทำงานของ ศอ.บต. อย่างที่เคย นอกจากนี้ คำสั่ง คสช. ดังกล่าวยังปรับบทบาทของ ศอ.บต. ให้ขึ้นตรงกับ กอ.รมน. 

 

จากการศึกษาผลกระทบและเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าหารือ ทำให้คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า คำสั่ง คสช. นี้มีผลอย่างมาก ทำให้สภาที่ปรึกษาฯ ไม่สามารถทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ศอ.บต. ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน และถูกจำกัดบทบาทลงเพราะต้องไปขึ้นตรงกับ กอ.รมน. ทั้งหมดนี้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ที่จัดให้มี ศอ.บต. ขึ้น

 

ในการที่จะนำสภาที่ปรึกษาฯ กลับมาก็ดี หรือจัดความสัมพันธ์ระหว่าง ศอ.บต. กับ กอ.รมน. เสียใหม่ จำเป็นต้องเพิ่มบทบาทและความเชื่อมโยงกับประชาชนมากขึ้น สภาที่ปรึกษาฯ ใหม่นี้ควรมีองค์ประกอบที่เหมาะสมให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมได้จริง และมีบทบาทในการหารือสาธารณะ เพื่อให้กระบวนการสันติภาพมีผลสำเร็จ

 

หลังจากนั้น สมาชิกทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านได้อภิปรายแสดงความเห็นและตั้งข้อสังเกตในรายละเอียดต่างๆ ของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ส่วนใหญ่เป็นไปในทางเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการฯ

 

ในช่วงหนึ่ง เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ปัญหาจากการที่มีคำสั่งของคณะรัฐประหาร ทำให้การบริหารพัฒนาชายแดนภาคใต้ไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยลง และไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีรัฐบาลประชาธิปไตย จึงควรปฏิเสธอำนาจคณะรัฐประหาร

 

ท้ายที่สุด ที่ประชุมได้เห็นชอบในวาระที่ 2 ตามที่คณะกรรมาธิการฯ แก้ไข และลงมติเป็นเอกฉันท์ 406 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ในวาระที่ 3 เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2559 เรื่อง ศอ.บต. และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. รวมถึงข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising