×

เครดิตบูโรเผย หนี้เสีย (NPL) คนไทยพุ่ง 14% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใน 3Q67

21.11.2024
  • LOADING...

เครดิตบูโรเผย ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทยประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 พบหนี้เสีย (NPL) แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่สินเชื่อคงค้างในระบบทั้งหมดแทบไม่ขยายตัว พร้อมประเมินว่า ‘มาตรการลดค่างวด-พักดอกเบี้ย 3 ปี’ จะทำให้หนี้เสียในระบบลดลงและสถานการณ์หนี้ในประเทศดีขึ้นได้

 

วันนี้ (21 พฤศจิกายน) สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า ระดับหนี้เสีย (NPL) หรือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วันในฐานข้อมูลของเครดิตบูโร ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 เพิ่มขึ้น 14.1%YoY จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ประมาณ​ 1.2 ล้านล้านบาท​ นับเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นสัดส่วน​ 8.8% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ SMEs

 

“หนี้​ NPL​s ประมาณ​ 1.2 ล้านล้านบาทโดยประมาณ ใจชื้นตรงที่​ NPLs สินเชื่อบ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล นิ่งๆ​ หรือโตไม่มากจากไตรมาสก่อน​ แต่ที่กังวลมากคือสินเชื่อธุรกิจคนตัวเล็กหรือ​ SMEs ที่เติบโต​ 20%YoY​ และ 5.2%QoQ อันนี้คือประเด็นสำคัญ​มากๆ” สุรพลกล่าว

 

ทั้งนี้ ฐานข้อมูล​สถิติที่ไม่มีตัวตนของเครดิตบูโรมาจากสถาบันการเงิน​ 157 แห่งที่เป็นสมาชิก ครอบคลุมประชาชนคนไทยและผู้มีถิ่นฐานในประเทศไทยกว่า​ 30 ล้านคน

 

 

การขยายตัวของสินเชื่อใน Q3 แทบไม่มี

 

ส่วนหนี้ครัวเรือนหรือสินเชื่อคงค้างทั้งหมด (Total Consumer Loan) ขยายตัวเพียง 0.5%YoY หรือแทบไม่ขยายตัว จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่อัตราการเติบโตแบบไตรมาสต่อไตรมาสลดลง 0.2%QoQ สะท้อนว่าสินเชื่อไม่โต

 

สุรพลกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่าสินเชื่อที่แทบไม่ขยายตัวส่วนหนึ่งมาจากการหดตัวของสินเชื่อรถยนต์ที่ลดลง 5.8%YoY และสินเชื่อธุรกิจที่เริ่มอาการออก เพราะผู้คนขายของไม่ได้ คนไปซื้อของจากจีนที่กำลังเกิดภาวะ Oversupply ทำให้ต้องดัมป์สินค้ามาที่ไทย ขณะที่สินเชื่อที่คนกู้มากินมาใช้อย่างสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลก็ถูกบล็อกด้วยปัญหาคุณภาพสินเชื่อ (Asset Quality) อยู่แล้ว

 

 

SM หดตัว หลังเจ้าหนี้เร่งช่วยลูกหนี้ปรับโครงสร้าง

 

ขณะที่หนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Special Mention: SM) หรือหนี้ที่ค้างชำระ 31-90 วัน ลดลง 2.6%YoY และ 3.8%QoQ มาหยุดที่​ 4.8 แสนล้านบาทโดยประมาณ​

 

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ SM ลดลง สุรพลกล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกฎเกณฑ์ที่ให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างลูกหนี้เชิงป้องกันหรือก่อนลูกหนี้เป็น NPL เห็นได้จากยอดปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันก่อนเป็นหนี้เสีย (Pre-emptive Debt Restructuring) ที่เพิ่มขึ้น 121.6%QoQ อยู่ที่ 6.45 แสนล้านบาท​ในไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้หลังเป็นหนี้เสีย (TDR) สะสมก็เพิ่มขึ้น 3.8%YoY มาอยู่ที่​ 1.03 ล้านล้านบาท​ คิดเป็น​สัดส่วน​ 7.6% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด

 

ทั้งนี้ ตามมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending: RL) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 กำหนดว่าเจ้าหนี้ต้องเสนอการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่ไม่เคยปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็น NPL อย่างน้อย 1 ครั้ง

 

 

เครดิตบูโรประเมินมาตรการลดค่างวด-พักดอกเบี้ย 3 ปี

 

สุรพลยังประเมินมาตรการลดภาระชำระหนี้-พักดอกเบี้ย 3 ปีที่สมาคมธนาคารไทยกำลังหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธปท. โดยมองว่ามาตรการดังกล่าวน่าจะทำให้หนี้เสียในระบบลดลงได้ เนื่องจากหนี้ NPL ที่เข้าร่วมโครงการนี้จะถูกโอนไปเป็นสินเชื่อ TDR ทันที และถ้าผู้ร่วมโครงการเริ่มจ่ายหนี้งวดที่ 1-3 ได้ดีก็จะกลายเป็นหนี้ปกติ

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า คาดว่าจะมีประชาชนอยู่ในกลุ่มเป้าหมายมาตรการดังกล่าวประมาณ 2.3 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 1.31 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น

  • สินเชื่อบ้าน ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี
  • สินเชื่อรถยนต์ ราคาไม่เกินคันละ 8 แสนบาท เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี
  • สินเชื่อ SMEs ยอดสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี

 

โดยสุรพลคาดว่า จากกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวน่าจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 80% เนื่องจากมองว่าคนที่เพิ่งเป็น NPL หรือเป็นไม่เกิน 1 ปี มักมีความต้องการที่อยากจะแก้หนี้อยู่แล้ว และสินเชื่อที่เข้าร่วมก็เป็นสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับชีวิตโดยตรง ดังนั้นถ้าไม่เข้าร่วมบ้านหรือรถจะถูกยึด ไม่มีเครื่องมือทำมาหากิน แตกต่างจากสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต

 

นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวก็จะยกดอกเบี้ยให้ 3 ปีหากชำระค่างวดได้ดี “เป็นการสร้างกำลังใจให้คนว่าจ่ายเท่าไรก็จะตัดต้น นอกจากนี้ดอกเบี้ยที่แขวนไว้ 3 ปีก็จะได้รับการยกให้หากทำตามเกณฑ์สำเร็จ” สุรพลกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม สุรพลมองว่ามาตรการนี้มีเงื่อนไขที่ลูกหนี้อาจไม่ชอบ คือระหว่างเข้าร่วมลูกหนี้จะไม่สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้อย่างน้อย 1 ปี อย่างมาก 3 ปี ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ ธปท. ระบุว่า หนี้สินครัวเรือนไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 (ข้อมูลล่าสุด) อยู่ที่ 16.32 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.6% ต่อ GDP นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบราว 4 ปี เหตุจากการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัวหนักของสถาบันการเงิน และความสามารถในการกู้ยืมเงินของคนไทยต่ำลง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X