×

‘โอลิมปิกครั้งสุดท้ายที่ยังมาไม่ถึง’ เปิดใจ ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี นักชกทีมชาติไทยกับการรอคอยโอลิมปิกสมัยที่ 3

16.05.2020
  • LOADING...

รอยแผลเป็นเหนือคิ้วของ ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี นักมวยสากลทีมชาติไทยวัย 35 ปี อาจเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัด เหมือนกับชื่อของเขาที่ปรากฏขึ้นบนหน้าสื่อหลายครั้งเมื่อมีการพูดถึงทัพเสื้อกล้ามไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

 

จากผลงานเหรียญทองซีเกมส์ 4 สมัย และกำลังจะก้าวเข้าสู่การแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเป็นสมัยที่ 3 ในประเทศญี่ปุ่นปี 2021 ฉัตร์ชัยเดชา หรือ สด ได้รับใช้ชาติในฐานะนักชกตัวแทนประเทศมาเป็นเวลา 15 ปี และตั้งเป้าจะลงแข่งขันครั้งสุดท้ายในสนามทีมชาติไทยที่โตเกียวโอลิมปิก ปี 2021 

 

THE STANDARD เดินทางไปยังบ้านของฉัตร์ชัยเดชา เพื่อสอบถามถึงความเป็นอยู่ช่วงการกักตัว การฝึกซ้อมจากที่บ้าน รวมถึงในเวลาที่กีฬาเกือบทั้งโลกยังคงหาทางกลับมาลงแข่งขันโดยมีความปลอดภัยของทุกฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

 

ฉัตร์ชัยเดชา ได้เผยว่า การตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันโอลิมปิกออกไปเป็นเวลาหนึ่งปี เปรียบเสมือนการวิ่งซ้อมที่โค้ชได้กำหนดไว้สิบรอบ แต่เมื่อวิ่งเข้าสู่รอบที่ 8 โค้ชกลับหันมาบอกเราว่าให้ทุ่มเทเพิ่มไปอีก 5 รอบต่อจากรอบที่ 10 

 

เวลาหนึ่งปีสำหรับฝ่ายจัดการแข่งขันและฝ่ายบริหารคือความวุ่นวาย และมูลค่าความเสียหายมหาศาล

 

แต่สำหรับฉัตร์ชัยเดชา เวลาหนึ่งปีคืออายุที่มากขึ้นสำหรับเขาในการขึ้นชกบนสังเวียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับกีฬาสมัครเล่นเป็นครั้งที่ 3 

 

“โอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ของผม ผมตั้งเป้าหมายไว้ว่าโอลิมปิกนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย แล้วก็จะปิดฉากการเป็นนักกีฬามวยสากลสมัครเล่น แต่ด้วยว่าตอนนี้มีโรคระบาด ทำให้การแข่งขันโอลิมปิกต้องเลื่อนไปหนึ่งปี ก็ทำให้เหมือนกับเป้าหมายที่เราวางไว้ว่าจะพอในปีนี้ก็ต้องเลื่อนไปปีหน้าอีกทีหนึ่ง” 

 

นอกจากเวลาที่ยืดออกไป การฝึกซ้อมของเขาก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากต้องปรับตัวมาฝึกจากที่บ้านด้วยโปรแกรมของโค้ชทีมชาติ โดยมีการประชุมและซ้อมร่วมทีมชาติไทยคนอื่นทุกเย็นในช่วงเวลา 16.00 น. เป็นเวลานานกว่าชั่วโมง 

 

“กิจวัตรประจำวัน ผมตื่นประมาณ 06.20 น. ล้างหน้า แปรงฟัน เริ่มฝึกซ้อม 7 โมงเช้า เสร็จประมาณ 8 โมงครึ่ง กินข้าวอาบน้ำ อยู่บ้านทำความสะอาดบ้าน พักผ่อน ตกบ่ายโค้ชจะส่งโปรแกรมมาให้ในแต่ละวัน เริ่ม 4 โมงเย็นก็ฝึกตามโปรแกรมทุกวันครับ” 

 

ฉัตร์ชัยเดชาเริ่มชกมวยสากลทีมชาติไทยครั้งแรกตั้งแต่ปี 2005 ด้วยการลงแข่งขันรายการชิงแชมป์โลก เขาเริ่มต้นชกมวยที่รุ่นน้ำหนัก 48 กิโลกรัม ขณะที่นักมวยรุ่นพี่อย่าง สมจิตร จงจอหอ ขึ้นชกรุ่น 51 กิโลกรัม ซึ่งเขาติดใจความรู้สึกในการแข่งขันมวยสากลตั้งแต่วันนั้น แม้จะตกรอบแรกในการแข่งขันรายการดังกล่าว 

 

หลังจากที่ได้เข้าร่วมทีมชาติก็ได้รู้จักกับสมจิตร จงจอหอ มากขึ้น ฉัตร์ชัยเดชาได้มองเจ้าของกำปั้นเหรียญทองโอลิมปิกปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง เป็นไอดอลที่เขาเฝ้าติดตามดูทั้งวิธีการฝึกซ้อม ความมุ่งมั่นพยายาม เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการชกมวยและการเป็นนักกีฬาทีมชาติ 

 

แต่จากประสบการณ์ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวที่ผ่านมา ฉัตร์ชัยเดชาได้นำเอาความเข้มแข็งจากสถานการณ์ต่างๆ มาฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 และสถานการณ์ในตอนนี้ 

 

“ช่วงแรกที่ผมแข่งขันก็มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว พอมาถึงจุดนี้ผมก็คิดนะครับว่า เรารอมาได้ 10 กว่าปี ถ้ารออีกปีเดียวทำไมเราจะรอไม่ได้ พยายามคิดในทางบวกไว้ก่อน เพราะผมมองว่าโอลิมปิกเลื่อน ยังดีกว่าโอลิมปิกยกเลิกครับ” 

 

การฝึกซ้อม อาการบาดเจ็บ การเผชิญหน้ากับคู่ชกที่มีเป้าหมายทำคะแนนและออกหมัดใส่คู่ชก ฉัตร์ชัยเดชาเผยว่าแรงผลักดันที่สำคัญของเขาคือครอบครัว เนื่องจากหลังจากการชูมือตัดสินผู้ชนะของกรรมการ ไม่ว่ามือที่ถูกชูจะเป็นมือของเขาหรือเป็นของคู่ชก คนที่จะมารอรับเขากลับบ้าน และให้กำลังใจเสมอคือก็คือภรรยาของเขา

 

“ผมมีครอบครัวและคนไทยเป็นกำลังใจ เพราะบางทีเวลาเราแข่งขันแพ้มา ก็มีครอบครัวที่ยังอยู่เคียงข้างเราเสมอ และบางครั้งผมเดินไปไหนมาไหนก็เจอคนที่รู้จักและจำผมได้ เขาได้เห็นเราขึ้นชก เขาก็ให้กำลังใจให้เราสู้ต่อไป มันเหมือนเป็นแรงผลักดันให้เราสู้ต่อไป” 

 

ขณะที่การรับมือกับความพ่ายแพ้ ในด้านของฉัตร์ชัยเดชา สิ่งสำคัญคือการยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นในสังเวียนที่เราพ่ายแพ้ ปล่อยสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ให้ผ่านพ้นไป และพยายามทำอย่างเต็มที่ในครั้งต่อๆ ไป 

 

ส่วนความกลัวที่นักชกทีมชาติไทยคนนี้มี เขายอมรับว่ามีเพียงสองอย่าง อย่างแรกคืออาการบาดเจ็บ ซึ่งจะทำให้เขาไม่สามารถแข่งขันต่อได้โดยไม่มีข้อถกเถียง อย่างที่สองคือคนที่ขยันฝึกซ้อม ซึ่งเขามองว่าน่ากลัวกว่าคนที่เก่ง เพราะวันหนึ่งถ้าคนที่ขยันไม่หยุด เขาก็จะสามารถก้าวข้ามขีดความสามารถของคนเก่งไปได้ 

 

“4 โมงเย็นแล้วนะ” ภรรยาของฉัตร์ชัยเดชา ผู้เป็นแรงผลักดันคนสำคัญได้ออกมาทักเราทั้งสองคนที่กำลังพูดคุยกันเรื่องมวยสากล เหมือนกับเป็นแฟนกีฬาที่หลงใหลในศาสตร์ของการชกทั้งคู่ ซึ่งสุดท้ายเขาก็ขอตัวกลับไปทำหน้าที่ฝึกซ้อมตามโปรแกรมของโค้ชทีมชาติ 

 

จนสุดท้ายเขาได้เดินออกมาส่ง THE STANDARD ที่รถไฟใต้ดิน MRT ซึ่งด้านหน้าสถานีมีวินมอเตอร์ไซค์เห็นเราสองคนพูดคุยกันก่อนที่จะกล่าวว่า 

 

“อ๋อ นั่นนักมวยทีมชาติไง” 

 

 


 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X