×

‘5 เดือนแรก’ เงินไหลออกกองทุนรวม 1.6 แสนล้านบาท ผลกระทบดอกเบี้ยขาขึ้นและความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงกดดัน GDP

10.06.2022
  • LOADING...
กองทุนรวม

อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.9 ล้านล้านบาท ลดลง 8.1% จากสิ้นปีที่แล้ว และหดตัวลง 4.1% จากไตรมาสแรกของปี เนื่องจากเม็ดเงินไหลออกต่อเนื่อง เฉพาะเดือนพฤษภาคมเงินไหลออกทั้งสิ้น 5.6 หมื่นล้านบาท ส่วนตั้งแต่ต้นปีเงินไหลออกสุทธิ 1.6 แสนล้านบาท 

 

รายงานจาก Morningstar Thailand ระบุว่า ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.9 ล้านล้านบาท ลดลง 8.1% จากสิ้นปีที่แล้ว (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infra Fund) และหดตัวลง 4.1% จากไตรมาสแรกของปี เนื่องจากเม็ดเงินที่ยังไหลออกต่อเนื่องและผลตอบแทนในหลายกลุ่มกองทุนที่เฉลี่ยติดลบ 

 

โดยมูลค่าเงินไหลออกสุทธิเดือนพฤษภาคมรวมอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน (YTD) มีเงินไหลออกสุทธิราว 1.6 แสนล้านบาท

 

ในรอบเดือนพฤษภาคม กลุ่มกองทุนตราสารหนี้มีเงินไหลออกสูงสุดกว่า 6.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการไหลออกต่อเนื่องจากช่วงต้นปี ซึ่งมีผลจากทิศทางดอกเบี้ยกดดันไปที่ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ติดลบ ทำให้ทั้งกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ในประเทศและต่างประเทศมีเงินไหลออกสูง ยกเว้นกลุ่มตราสารหนี้ประเภท Term Fund ที่ยังมีเงินไหลเข้าสุทธิ โดยรวมแล้วกองทุนตราสารหนี้มีเงินไหลออกสุทธิสะสมกว่า 1.9 แสนล้านบาท

 

ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ยังเป็นการปรับตัวลงท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย โดยหลายดัชนีตลาดหลัก เช่น จีน, สหรัฐฯ, ยุโรป หรือหุ้นทั่วโลก ยังคงติดลบสะสมระดับ 10% ในขณะที่ SET TR ยังเป็นบวกเล็กน้อย ซึ่งมีส่วนมาจากนโยบายการเงินของไทยที่ยังไม่ปรับดอกเบี้ย และการเปิดประเทศทำให้มีแรงหนุนจากการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ระดับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยที่อาจทำให้ไทยมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจในระยะถัดไป

 

จากปัจจัยลบดังกล่าวได้ส่งผลต่อเม็ดเงินกองทุนตราสารทุนมากขึ้น โดยในเดือนพฤษภาคมมีเงินไหลออกสุทธิระดับ 1 พันล้านบาท กลุ่มกองทุนหุ้นจีนเป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 1.2 พันล้านบาท แต่เป็นไปทิศทางที่ชะลอตัวลง เช่นเดียวกับกลุ่มหุ้นเวียดนามและหุ้นทั่วโลกที่มีเงินไหลเข้าสุทธิน้อยลงนับตั้งแต่เข้าไตรมาสที่ 2 เป็นต้นมา ในขณะที่กองทุนหุ้นไทยโดยรวมยังมีเงินไหลออกสุทธิ เช่น กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่มีเงินไหลออกสุทธิสะสมเกือบ 2.3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นผลจากเงินไหลออกจากกองทุน LTF เป็นส่วนใหญ่

 

ด้านกองทุนประหยัดภาษี Super Saving Fund หรือ SSF มีเงินไหลเข้าสุทธิสะสม 2.2 พันล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่มูลค่า 1.7 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี มูลค่าทรัพย์สินสุทธิหดตัวลง 3.8% ไปอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท

 

ส่วนกองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.8 แสนล้านบาท และยังมีเงินไหลออกสุทธิสะสมราว 800 ล้านบาท โดยกลุ่ม RMF-Allocation มีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุด 1.7 พันล้านบาท ขณะที่กลุ่ม RMF-Equity ที่มีเงินไหลเข้าสะสมมากที่สุดที่ระดับ 700 ล้านบาท โดยรวมแล้วในปีนี้มีเงินไหลเข้ากองทุน RMF ช้ากว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีเงินไหลเข้าระดับ 1 พันล้านบาท

 

กองทุน LTF มีเงินไหลออกต่อเนื่อง แต่ค่อนข้างชะลอลงจากต้นปี โดยในเดือนพฤษภาคมมีเงินไหลออก 1.4 พันล้านบาท รวมไหลออกสุทธิสะสม 2.0 หมื่นล้านบาท หรือสูงกว่าเงินไหลออกสุทธิของทั้งปี 2021 ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท

 

Morningstar Thailand ระบุว่า ระยะนี้ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกที่อยู่ระดับสูงในรอบหลายปี ซึ่งจะส่งผลไปยังความเร็วในการปรับดอกเบี้ยของแต่ละประเทศ การจัดพอร์ตการลงทุนควรมีความระมัดระวัง อาจลดความเสี่ยงตามความเหมาะสม คำนึงถึงสภาพคล่องส่วนบุคคล รวมถึงระยะเวลาการลงทุนเป็นสำคัญ ซึ่งหากตลาดมีการปรับตัวลงแรง ก็อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ลงทุนระยะยาวได้

 

ข้อมูลจาก Morningstar Thailand ระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 เงินทุนไหลออกจากกองทุนรวมของไทยรวมมูลค่า 1.6 แสนล้านบาท และเฉพาะเดือนพฤษภาคมมูลค่าเงินไหลออกสุทธิอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท โดยกองทุนรวมตราสารหนี้เงินไหลออกมากที่สุด ขณะที่กองทุนรวมตลาดเงินเป็นสินทรัพย์เดียวที่เงินยังคงไหลเข้าสุทธิ 

 

กองทุนรวม

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising