×

ผลวิจัยเผย เศรษฐีไทยนิยมงาช้างและเสือโคร่ง เพราะเชื่อว่าจะทำให้มั่งคั่ง

โดย THE STANDARD TEAM
05.06.2018
  • LOADING...

รายงานวิจัยผู้บริโภคชิ้นใหม่ขององค์กร USAID ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ระบุว่า แม้ความต้องการงาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในประเทศไทยจะมีค่อนข้างจำกัด แต่ความต้องการส่วนใหญ่ยังมาจากเจ้าของธุรกิจและพ่อค้าที่มีฐานะการเงินดี ซึ่งเชื่อว่า การซื้อผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าจะนำมาซึ่งความมั่งคั่งและสถานะทางสังคมที่ดี

 

งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นภายใต้โครงการ USAID Wildlife Asia ขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ประกอบไปด้วยการศึกษาเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าในประเทศไทย โดยผลการวิจัยพบว่า ความเชื่อดั้งเดิมที่ว่างาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งว่าจะช่วยปกป้องและเสริมสถานะทางสังคมนั้น มีส่วนทำให้คนไทยยังคงซื้อผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า

 

“ความเข้าใจในสิ่งที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ถือเป็นก้าวสำคัญในการลดความต้องการงาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในประเทศไทย” นายริชาร์ด กอฟเนอร์ ผู้อำนวยการ USAID สำนักงานภาคพื้นเอเชียกล่าว “ด้วยการมุ่งเน้นไปที่ผู้ที่ยังบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าในปัจจุบัน และผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะบริโภคในอนาคต เราสามารถใช้การสื่อสารและสร้างการรณรงค์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากการศึกษาปัจจัยที่กระตุ้นเร้า และผลักดันให้พวกเขาเกิดความต้องการงาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่ง อีกทั้งยังจะช่วยยุติการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย”

 

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา รายงานผลการวิจัยครั้งนี้ให้บทสรุปที่เข้มข้นเป็นครั้งแรกในการศึกษาความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์งาช้างในประเทศไทย การวิจัยนี้ดำเนินการร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Ipsos ซึ่งเป็นหน่วยงานทำวิจัยทางการตลาด

 

นอกจากนี้ยังพบว่า งาช้างถือเป็น ‘ของขวัญที่สมบูรณ์แบบ’ และผลิตภัณฑ์จากเสือจัดเป็น ‘ผู้พิทักษ์’ แล้วนั้น ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า อัตราการใช้ผลิตภัณฑ์งาช้างและเสือโคร่งของประชากรไทยอยู่ที่ร้อยละ 2 และ 1 ตามลำดับ กลุ่มคนที่บริโภคทั้งงาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือมีแนวโน้มที่จะมีอายุ 40 ปีขึ้นไปและมีฐานะร่ำรวย ส่วนมากนิยมซื้อผลิตภัณฑ์ประเภทวัตถุบูชา ของแกะสลัก และเครื่องรางของขลังที่ทำจากงาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือมากที่สุด

 

ผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิงนิยมซื้อเครื่องประดับและอัญมณีที่ทำมาจากงาช้าง เพราะมีความสวยงามและมีเสน่ห์ ส่วนผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากเสือส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย

 

มูลค่าของอาชญากรรมสัตว์ป่าผิดกฎหมายทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ระหว่าง 500-1,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยประเทศไทยเป็นทั้งประเทศทางผ่าน ปลายทาง และประเทศต้นทางสำหรับสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางการส่งผ่านงาช้างที่ขายในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีน

 

ผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้างและเสือโคร่งที่ร้านขายเครื่องประดับ ตลาดพระเครื่องหรือวัด ตลาดขนาดใหญ่ หรือผ่านญาติหรือเพื่อน ขณะที่แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญในการค้นหาและแลกเปลี่ยนข้อมูลซื้อขายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากงาช้างและเสือโคร่ง โดยข้อมูลออนไลน์จะได้รับจากผู้ซื้อหรือผู้ค้ารายอื่นๆ และเมื่อมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันทางออนไลน์แล้ว การสั่งซื้อจะทำนอกระบบออนไลน์ แต่ในบางกรณีก็ทำผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Facebook และ Line

 

ตามพระราชบัญญัติงาช้างของไทย การค้างาช้างที่ได้มาจากช้างเลี้ยงในประเทศไทยถือว่าถูกกฎหมาย แต่การค้าทุกรูปแบบเกี่ยวกับงาช้างของแอฟริกานั้นผิดกฎหมาย ขณะที่การค้าผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนจากเสือโคร่งเป็นสิ่งผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากงาช้างและเสือโคร่งดูจะยังมีความสับสนในประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับงาช้างและเสือโคร่ง หลายคนไม่แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นเล็กๆ ที่พวกเขาครอบครองเป็นของถูกกฎหมายหรือไม่ แม้พวกเขาเห็นด้วยว่าผลิตภัณฑ์จากงาช้างป่าไทย ช้างแอฟริกา และเสือจากธรรมชาติทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย

 

“ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า การต่อสู้เพื่อต่อต้านการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย” นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า “การจะจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่าย ผนึกกำลังกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและมีใจในการทำงานเดียวกัน พร้อมทั้งปรับปรุงความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ”

 

ทั้งนี้การวิจัยครั้งนี้มีการเก็บข้อมูลทางออนไลน์โดยใช้กลุ่มตัวอย่างคนไทยจำนวน 1,000 คน อายุระหว่าง 18-64 ปี และมีอัตราความคลาดเคลื่อนประมาณร้อยละ 5

 

อ้างอิง:

  • USAID
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising