×

พลิกตำนาน ‘พรรคทหาร’ กับการเมืองไทย ถอดรหัส สืบทอดอำนาจ?

09.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • หากไล่เรียงการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองในประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า ‘พรรคทหาร’ จะเห็นว่าล้วนเป็นสูตรสำเร็จที่มุ่งหวังสืบทอดอำนาจอย่างปฏิเสธไม่ได้ เส้นทาง ผู้คน ในสารบบที่เวียนวนล้วนเป็นผลมาจากการก่อรัฐประหารยึดอำนาจ
  • มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว แต่การก่อรูปเห็นได้ชัดว่าเป็นไปในแบบ ‘เฉพาะกิจ’ เสียมากกว่า เพราะเมื่อผ่านกาลเวลา พรรคเหล่านี้ก็ล้วนสูญหายไปจากสารบบ
  • ไม่ว่าพรรคทหารจะเกิด หรือ คสช. จะหนุนพรรคใด แต่ พล.อ. ประยุทธ์ ดูเหมือนจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้แจ่มชัดกว่าใคร รอแค่ ‘เลือก’ ว่าจะเดินทางไหนเท่านั้น

     “การที่ คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิของ คสช. ใช่หรือไม่ เพราะนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้ว” คือ 1 ใน 6 คำถามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้โยนขึ้นกลางอากาศ ขอให้ประชาชนทุกจังหวัดได้ตอบคำถามนี้ (คลิกอ่านรายละเอียด 6 คำถาม)

 

 

     ความน่าสนใจของคำถามดังกล่าว หากมองโดยทั่วไปก็เป็นการถามความเห็นจากประชาชน ให้ตอบชัดว่าๆ ถ้าในอนาคต คสช. จะหนุนพรรคใดในการลงสมัครรับเลือกตั้งจะได้หรือไม่ แต่ขณะเดียวกันก็มีนัยที่ซ่อนแฝงอย่างชัดเจนเหมือนกันว่า คสช. อาจจะไม่ปล่อยมือจากการเมือง แม้จะเข้าสู่สนามเลือกตั้ง และเด่นชัดไปกว่านั้นคือ เป็นไปได้ที่ คสช. อาจตั้งพรรคการเมืองเอง เพื่อกระโดดเข้าสนามการเมืองอย่างเต็มตัว

     แต่นี่เป็นเพียงวันแรกของการโยนคำถามนี้ขึ้นมา ยังไม่เห็นคำตอบ แต่หลายคนแสดงออกแล้วในโลกโซเชียล หากถามว่า ความพยายามในการที่คณะบุคคล ซึ่งทำการรัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อกำลังจะก้าวลงจากอำนาจ ‘การตั้งพรรค’ เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่ ประวัติศาสตร์และตำนานต่อเรื่องนี้ เคยมีบันทึกเอาไว้ทั้งจุดจบเเละจุดเริ่มต้น

 

 

ย้อนตำนาน ‘พรรคทหาร’

     กว่า 8 ทศวรรษที่ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อาจมีคำถามขึ้นมาจากหลายคนเช่นเดียวกันว่าเป็น ‘ประชาธิปไตย’ จริงหรือ?

     เพราะหากย้อนไปดูประวัติศาสตร์จะพบว่า การเมืองไทยมีการทำรัฐประหารมาแล้วถึง 13 ครั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญร่างใหม่มาจนถึงปัจจุบันเป็นฉบับที่ 20 แล้ว มีผู้พูดเชิงเย้าแหย่ว่า น่าจะเป็นประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญถี่และมากที่สุดในโลก

 

 

     สถิติเหล่านี้กำลังบอกเราว่า การเมืองไทยวังวนที่หมุนซ้ำไปซ้ำมาอยู่ตลอด แล้ว ‘บทเรียน’ จากประวัติศาสตร์เหล่านี้เคยได้ถูกใช้หรือไม่ เหตุใดจึงหมุนวนทับรอยประวัติศาสตร์เดิมอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า จนเกิดเป็นวลีในทางการเมืองว่า ‘วงจรอุบาทว์’

     ในห้วงที่พรรคการเมืองออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ‘ปลดล็อกทางการเมือง’ ให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้ เพื่อแต่งองค์ทรงเครื่องรับการเลือกตั้งในอนาคต (คลิกอ่านที่นี่) จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีท่าทีที่ คสช. จะเปิดทางให้ดำเนินการอย่างอิสระ

     คำถามถึง ‘อนาคต คสช.’ ที่มาพร้อมๆ กับกระแส ‘การตั้งพรรค’ ก็ดังขึ้นถี่ยิบรายวัน เกิดเป็นกระแสพรรคทหารที่หวังปูทางสืบทอดอำนาจต่อไปอีก

     หรือ ‘กงล้อประวัติศาสตร์การเมือง’ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี 2475 จะหมุนวนกลับมาเกิดเป็น ‘สูตรสำเร็จ’ ในการตั้ง ‘พรรคทหาร’ อีกครั้ง ซึ่งแน่นอน หนทางนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มีบทเรียนให้เห็นอยู่แล้ว

 

(จอมพล ป. พิบูลสงคราม : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

 

     เริ่มต้นที่ ‘พรรคเสรีมนังคศิลา’ ก่อตั้งเมื่อ 29 ก.ย. 2498 ถือว่าเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกในประเทศไทย หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. พรรคการเมือง 2498 เปิดให้ตั้งพรรคการเมืองได้ครั้งแรก และนับว่าเป็น ‘พรรคทหาร’ พรรคแรกของการเมืองไทย มี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคคือ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ รองหัวหน้าพรรค ได้แก่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พลตรีประภาส จารุเสถียร ชนะการเลือกตั้ง ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘การเลือกตั้งสกปรกรกในประวัติศาสตร์’ ต่อมาเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทหารของจอมพล สฤษดิ์ และกลุ่มทหารของจอมพล ป. และกลุ่มตำรวจของ พล.ต.อ. เผ่า บานปลายกลายเป็นการรัฐประหารในวันที่ 16 ก.ย. 2500 นำโดย จอมพล สฤษดิ์

     ถัดมาในปี 2500 มีการก่อตั้ง ‘พรรคสหภูมิ’ มีนายสุกิจ นิมมานเหมินท์ อดีต ส.ส. พรรคเสรีมนังคศิลา ที่ได้ลาออกมาเป็นหัวหน้าพรรค ได้รับการสนับสนุนจาก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น

     หลังยึดอำนาจก็หนุนให้ ‘พจน์ สารสิน’ เป็นนายกฯ เมื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ปรากฏว่าได้เสียงไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด จอมพล สฤษดิ์ จึงตัดสินใจยุบพรรคเสรีมนังคศิลา รวมพรรคสหภูมิเกิดใหม่เป็นพรรคชาติสังคม

 

(จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

 

     ‘พรรคชาติสังคม’ มี จอมพล สฤษดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค โดยมี พล.ท. ถนอม กิตติขจร, นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นรองหัวหน้าพรรค และมี พล.ท. ประภาส จารุเสถียร เป็นเลขาธิการพรรค แต่เลือกตั้งเมื่อปลายปี 2500 พรรคชาติสังคมไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลแบบได้เสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงต้องจับมือกับพรรคการเมืองอื่น ตั้งรัฐบาลผสมดันให้ พล.ท. ถนอม เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 ม.ค. 2501

     ปี 2501 การบริหารบ้านเมืองมีความยากลำบาก จอมพล สฤษดิ์ ทำรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง พรรคชาติสังคมก็ไม่มีบทบาททางการเมืองอีกต่อไป แต่คราวนี้ จอมพล สฤษดิ์ นั่งเป็นนายกฯ เอง และเมื่อเขาเสียชีวิต จอมพล ถนอม ก็ขึ้นเป็นนายกต่อ

 

(จอมพล ถนอม กิตติขจร : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

 

     ปี 2511 เกิด ‘พรรคสหประชาไทย’ จอมพล ถนอม ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมกับมีพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 ออกมาบังคับใช้ จึงได้ก่อตั้งพรรคนี้ขึ้นมา และเป็นหัวหน้าพรรคเอง มีจอมพล ประภาส จารุเสถียร, รพล.ต.อ. ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ และนายพจน์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นรองหัวหน้าพรรค โดยมี พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค

     แต่ก็เกิดความวุ่นวายในปี 2514 จอมพล ถนอม ประกาศยึดอำนาจตัวเอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกพรรคการเมือง สั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน จึงเป็นการปิดฉากพรรคสหประชาไทย เป็นชนวนเหตุของการชุมนุมใหญ่เหตุการณ์ ‘14 ต.ค. 2516’

     ในยุคต่อมาหลังจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจ ปี 2534 เกิดพรรค ‘สามัคคีธรรม’ ขึ้นในปี 2535 โดยมี ณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้เป็นนายกฯ เนื่องจากมีการระบุว่าเขาถูกแบล็กลิสต์จากสหรัฐฯ ทำให้พรรคสามัคคีธรรมผลักดัน พล.อ. สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกฯ ภายใต้วาทกรรม ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ จนเป็นที่มาของเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ปี 2535 ในที่สุด

 

(พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน : Madaree Tohlala / AFP) 

 

     ถัดมาในปี 2549 มีการรัฐประหารรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร นำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ในขณะนั้น ภายหลังในปี 2550 มีการตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อว่า ‘พรรคเพื่อแผ่นดิน’ โดยมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นหัวหน้าพรรค นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย, นายพินิจ จารุสมบัติ, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ และนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ ร่วมก่อตั้งท่ามกลางกระแสข่าวว่าเป็นพรรคที่ทหารให้การสนับสนุน และก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง เพราะพรรคพลังประชาชนชนที่นำโดย นายสมัคร สุนทรเวช ชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลและพรรคนี้ก็เข้าร่วมรัฐบาลด้วย

     ปลายปี 2551 มีการก่อตั้ง ‘พรรคมาตุภูมิ’ โดยมี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ที่เคยเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 นั่งเก้าอี้เป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง

     หากไล่เรียงการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองในประวัติศาสตร์ ที่เรียกว่า ‘พรรคทหาร’ จะเห็นว่าล้วนเป็นสูตรสำเร็จที่มุ่งหวังสืบทอดอำนาจอย่างปฏิเสธไม่ได้ เส้นทาง ผู้คนในสารบบที่เวียนวนล้วนเป็นผลมาจากการก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ก้าวลงจากเก้าอี้ก็สร้างพรรค หวังปูทางให้ตนเองกลับมายิ่งใหญ่อีก มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว แต่การก่อรูปเห็นได้ชัดว่าเป็นไปในแบบ ‘เฉพาะกิจ’ เสียมากกว่า เพราะเมื่อผ่านกาลเวลา พรรคเหล่านี้ก็ล้วนสูญหายไปจากสารบบ

 

ทหาร กับ การเมือง ผ่าน ‘พรรคทหาร’ จะกลับมาจริงหรือ?

     อะไรทำให้ ‘ทหาร’ หรือ กองทัพ ยังคงวนเวียนอยู่ในสารบบของการเมืองไทย ชนิดที่แยกกันไม่ออกมาหลายทศวรรษ

 

 

     ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายไว้ในบทสัมภาษณ์ ‘รู้เขารู้เรา เข้าใจวิธีคิดกองทัพไทย ผ่าน สุรชาติ บำรุงสุข’ โดย ผ่าน The 101 (คลิกอ่าน) ว่า

     “ทหารมีชุดความเชื่อว่าตนเองเป็น national guardian หรือ ‘ผู้พิทักษ์แห่งชาติ’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่อดีต ที่ใช้คำว่า ‘อดีต’ เพราะในหลายประเทศปรากฏการณ์นี้ได้ยุติลงแล้ว

     เมื่อทหารสร้างความรู้สึกหรือจินตนาการว่าพวกเขาเป็นผู้พิทักษ์ของประเทศแล้ว เวลาที่การเมืองมีปัญหา ทหารจะคิดว่าตัวเองมีหน้าที่ต้องเข้ามาจัดการ และเมื่อมีอะไรที่ขัดแย้งกับทหาร เขาก็จะถือว่าเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์แห่งชาติไปด้วย ดังนั้นไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถ้าทหารยังมีชุดความคิดแบบนี้อยู่ พวกเขาก็พร้อมที่จะเข้าแทรกแซงทางการเมือง”

 

Dominique Faget / AFP

 

     ขณะที่ พล.อ. สุจินดา คราประยูร กล่าวไว้ในหนังสือ ‘บันทึกคำให้การ สุจินดา คราประยูร กำเนิดและอวสาน รสช.’ เกี่ยวกับบทบาทของทหารกับการเมืองว่า

     “ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับทหารจะแยกกันโดยเด็ดขาดนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะรู้อยู่แล้วว่าฝ่ายบริหารนั้นเป็นผู้ควบคุมนโยบาย ในขณะที่กองทัพบกเป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายนั้น ดังนั้นคงจะแยกจากกันโดยเด็ดขาดไม่ได้ ซึ่งคงจะเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าว มากกว่าที่จะเป็นการก้าวก่ายซึ่งกันและกัน”

 

Pornchai Kittiwongsakul / AFP

 

     หากย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อปี 2549 สิ่งที่ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะหัวหน้ารัฐประหารเวลานั้น ได้เขียนไว้ในหนังสือ ‘THE TRUTH I ความจริงที่เป็นเรื่องจริง’ ในอีก 11 ปีต่อมา ดูเหมือนจะสอดรับกับที่ ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ ได้กล่าวไว้

     “ในขณะที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตอย่างหนัก และต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ผมต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาดและเด็ดเดี่ยวเพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่งคงของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ในการแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีจิตใจกล้าหาญ มุ่งมั่น เสียสละ และให้ความร่วมมือกันอย่างจริงใจ”

 

AFP

 

     เมื่อย้อนไปดู วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต หัวข้อ “ทหารกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง (2500 – 2526)” โดย ชัยวัฒน์ สารสมบัติ ภาควิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2528 ได้ทำการศึกษาบทบาทหารในช่วง 26 ปี กับการตั้งพรรคการเมืองว่า มีปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้นำทหารสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองได้ 3 ประการคือ

     1. กฎหมาย ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ที่เปิดโอกาสให้ทหารซึ่งเป็นข้าราชการประจำเข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองได้ และรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจแก่วุฒิสภา ซึ่งเป็นสภาแต่งตั้งให้มีเท่าเทียมกับสภาเลือกตั้ง มีผลทำให้ผู้นำทหารเหล่านั้นมีฐานเสียง ให้สภาสนับสนุนอยู่เพียงพอ

     2. การเติบโตของพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ไม่อยู่ในระดับที่จะแข่งขันกับกลุ่มทหาร ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ มีอำนาจ มีบทบาท และมีอิทธิพลได้ ทำให้การตั้งพรรคสามารถทำได้ อาจเนื่องมาจากกระบวนการของทหาร ที่ได้วางพื้นฐานเอาไว้ เช่น ภายหลังจากที่ปฏิวัติรัฐประหาร ก้ได้ยึดอำนาจและห้ามการชุมนุมทางการเมือง ฝ่ายค้านและฝ่ายการเมืองอื่นๆจึงไม่มีโอกาสได้รวมตัวกัน

     3. เอกภาพของกองทัพ ผู้นำของกองทัพสามารถควบคุมองค์กรได้อย่างเด็ดขาดและสมบูรณ์ อันมีผลทำให้ผู้นำมีอำนาจที่มั่นคงและเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างมีความชอบธรรมพอสมควร

     วิทยานิพนธ์ นี้ได้สรุปด้วยว่า การจัดตั้งพรรคการเมืองของทหาร เป็นรูปแบบหนึ่งของความพยายามี่จะมีบทบาททางการเมืองอย่างต่อเนื่องและเพื่อคงลักษณะเผด็จการทหารเอาไว้ เห็นได้จากที่ต้องมีการพึ่งพาอำนาจกองทัพอยู่ พรรคการเมืองทหารที่ตั้งขึ้นจะประกอบด้วยผู้นำทหารเป็นส่วนใหญ่ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค และมักจะใช้อิทธิพลในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

     ขณะเดียวกัน จากการศึกษายังพบว่า ทหารใช้พรรคการเมืองเเบบนี้ เป็นเครื่องมือครองอำนาจทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง แต่พรรคการเมืองดังกล่าวก็ไม่มีความคงทนพอที่จะกลายเป็นสถาบันทางการเมืองต่อไปได้ เมื่อทหารไม่สามารถจัดตั้งพรรคการเมืองได้จึงต้องเร่งพัฒนาบทบาททางด้านอื่นมาเสริม ให้มีความชอบธรรมในทางการเมือง และจะได้มีบทบาทต่อไป

 

AFP

 

ถอดรหัส “พล.อ.ประยุทธ์” กับ สนามการเมือง ในอนาคต?

     ในห้วงเวลาปัจจุบัน รัฐบาลที่ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารมีกำเนิดจากการเข้ายึดอำนาจรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเดือนพฤษภาคม ปี 2557 นับจนถึงเวลานี้เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่นั่งบริหารประเทศ ฉีกทุกกฎของความเชื่อและประวัติศาสตร์การเมือง เพราะทุกคนเชื่อว่ารัฐบาลทหารในลักษณะนี้มักจะอยู่ไม่ยาวนานนัก และจะต้องเจอกับกระแสต่อต้าน และเรียกร้องให้คืนประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง แต่ทว่า ‘รัฐบาล คสช.’ ไม่เป็นเช่นนั้น ย่อมสะท้อนถึงความผิดปกติบางอย่างของสังคมไทยได้ด้วย

     การเข้ามาสู่การเมืองของ ‘ทหาร’ ในครั้งหลังสุด ด้วยวลี “เพื่อสลายความขัดแย้ง” และประคองบ้านเมืองให้รอดพ้น จึงพิเคราะห์ได้ในท่วงทำนองเดียวกัน หากแต่การ “ขอเวลาอีกไม่นาน” ยังคงเป็นข้อพิสูจน์ที่รู้เพียงโรดแมปการเลือกตั้ง ยังไม่อาจตัดสินความยืดยาวออกไปของการดำรงคงอยู่ในถนนการเมืองของ ‘คสช.’

     แม้ว่า ‘พรรคทหาร’ ที่ดูท่าทีแล้วมีโอกาสวนกลับมาอีกครั้ง ก็ยังไม่ชัดเจนเท่าไรนัก แต่แน่นอนทุกเหตุการณ์ย่อมมี ‘บทเรียน’ และมีเรื่องให้ต้องเรียนรู้ ว่าจุดเริ่มต้น และจุดจบของสิ่งเหล่านี้เป็นเช่นไร

     พล.อ. ประยุทธ์ และสมาชิก อาจจะไม่สามารถลงสมัคร ส.ส. ได้ด้วยรัฐธรรมนูญขีดเส้นห้าม แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถกลับมาเป็น ‘นายกฯ’ ได้ เพราะยังมีช่องทางจากการเสนอชื่อในบัญชีของพรรคการเมือง และอาจเป็น ‘นายกฯ คนนอก’ ได้หาก ส.ว. ร่วมโหวต กับ ส.ส.

     ไม่ว่าพรรคทหารจะเกิด หรือ คสช. จะหนุนพรรคใด แต่ พล.อ. ประยุทธ์ ดูเหมือนจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้แจ่มชัดกว่าใคร รอแค่ ‘เลือก’ ว่าจะเดินทางไหนเท่านั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X