นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ในวันนี้ (25 กรกฎาคม) เกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งและการสู้รบในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชา
โดยเขากล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าความขัดแย้งครั้งนี้จะยุติลงเมื่อใด ขณะที่ย้ำความต้องการในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
“ยังเร็วเกินไปที่ผมจะบอกได้ว่าความขัดแย้งนี้จะยุติเมื่อใด อย่างที่ทราบกันดีว่าไทยต้องการให้สถานการณ์จบลงโดยเร็วที่สุด นั่นคือความปรารถนาของรัฐบาลไทย และของประชาชนไทย แต่ผมไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาได้ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายกัมพูชา
ผมขอย้ำว่า ไทยมองกัมพูชาในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่สามารถย้ายหนีออกจากกัมพูชาได้ เพราะเรามีพรมแดนร่วมกันถึง 800 กิโลเมตร และเราต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” เขากล่าว
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังย้ำว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลและกองทัพของทั้งสองประเทศ ไม่ใช่เรื่องระหว่างประชาชน พร้อมทั้งประณามการกระทำของฝ่ายกัมพูชาในการโจมตีพื้นที่พลเรือนอย่างไม่เลือกเป้าหมาย
“ผมขอเน้นย้ำว่านี่เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ระหว่างกองทัพทั้งสอง ไม่ใช่เรื่องระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ เรายังคงมองว่าชาวกัมพูชาเป็นเพื่อนบ้านของเรา เป็นมิตรที่ดี
การโจมตีพื้นที่พลเรือนอย่างไม่เลือกเป้าหมาย เป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม และไม่อาจยอมรับได้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ”
ทั้งนี้ เขาย้ำจุดยืนของไทยว่า กลไกแบบทวิภาคีคือทางออกที่ดีที่สุด เพราะนี่เป็นข้อขัดแย้งระหว่างสองประเทศ
“ประตูของเรายังเปิดอยู่ แต่สิ่งแรกที่ต้องเกิดขึ้นก่อน คือการยุติความรุนแรง ฝ่ายกัมพูชาจะต้องเป็นฝ่ายหยุดก่อน”
ขณะที่เขาเปิดเผยว่า มีหลายชาติพันธมิตร รวมทั้งสหรัฐฯ และจีน ที่โทรศัพท์สอบถามข้อเท็จจริงและแสดงความพร้อมเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย ซึ่งไทยยืนยันว่ายังไม่คิดว่าจำเป็นต้องมีประเทศที่สามเข้ามาไกล่เกลี่ย โดยพร้อมใช้กลไกอาเซียนในการแก้ไขปัญหาก่อน
“พันธมิตรและประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ อย่างเช่น สหรัฐฯ จีน ได้โทรศัพท์มาสอบถามข้อเท็จจริงและแสดงความห่วงใย พวกเขาเสนอว่าหากจำเป็นก็พร้อมจะช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจา แต่จุดยืนของเราตอนนี้คือ เรายังไม่คิดว่าจำเป็นต้องมีประเทศที่สามเข้ามาไกล่เกลี่ย ถ้ามีอะไร เราพร้อมใช้กลไกของอาเซียนก่อน
ผมเชื่อมั่นในแนวทางแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ผมเชื่อมั่นในความมุ่งมั่นของประเทศไทย ส่วนฝ่ายกัมพูชา ผมขอเรียกร้องให้พวกเขามีศรัทธาในสันติภาพเหมือนที่เรามี และเมื่อถึงจุดนั้น ความรุนแรงทั้งหมดจะสิ้นสุดลง”
อ้างอิง: