×

‘เตะกลางสัปดาห์-เปลี่ยนตัว 5 คน-ตรวจเชื้อทุกเดือน’ สมาคมกีฬาฟุตบอลไทยฯ เผยแนวทางกลับมาเตะไทยลีก พร้อมมาตรการป้องกันของ ศบค.

22.01.2021
  • LOADING...
‘เตะกลางสัปดาห์-เปลี่ยนตัว 5 คน-ตรวจเชื้อทุกเดือน’ สมาคมกีฬาฟุตบอลไทยฯ เผยแนวทางกลับมาเตะไทยลีก พร้อมมาตรการป้องกันของ ศบค.

วันนี้ (22 มกราคม) เมื่อเวลา 13.30 น. กรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการประธานบริหาร บริษัท ไทยลีก จำกัด ได้แถลงข่าวผ่านทาง Zoom กับสื่อมวลชน และไลฟ์ผ่านทางเพจ Thai League ถึงมาตรการจัดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก หลังจากที่ได้รับอนุญาตจัดการแข่งขันจากศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.

 

โดยมาตรการจัดการแข่งขันไทยลีกจะกลับมาเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งรายละเอียดของการจัดการแข่งขันแบบปิดประกอบไปด้วย 

 

1. ปฏิทินการแข่งขัน

 

1.1 เริ่มการแข่งขันด้วย ช้างเอฟเอคัพ รอบ 16 ทีมสุดท้าย วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 

 

1.2 ไทยลีก 1-2 เริ่มแข่งขันวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ โดยนำแมตช์แข่งขันในเดือนมกราคมมาแข่งขันในเดือนกุมภาพันธ์ และจะจบฤดูกาลสิ้นเดือนมีนาคม และมีการแข่งขันช่วงกลางสัปดาห์ของไทยลีก 1 ทั้งหมด 5 นัด และไทยลีก 2 ทั้งหมด 7 นัด

 

1.3 จะมีแมตช์นำร่อง ในวันที่ 31 มกราคม เป็นนัดตกค้าง ระหว่าง สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด พบ การท่าเรือ เอฟซี เนื่องจากจังหวัดเชียงรายอยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยงต่ำ

 

1.4 ศบค. ยังไม่อนุญาตให้จัดการแข่งขัน สำหรับสโมสรที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และสมุทรสาคร โดยในเบื้องต้น สโมสรที่อยู่ใน 5 จังหวัดดังกล่าว จำเป็นต้องหาสนามแข่งขันสนามกลาง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง 

 

1.5 ช้างเอฟเอคัพ รอบ 8 ทีมสุดท้าย แข่งขันวันที่ 3 เมษายน, รอบรองชนะเลิศ วันที่ 7 เมษายน และรอบชิงชนะเลิศ วันที่ 11 เมษายน ตามลำดับ

 

1.6 เพลย์ออฟไทยลีก 2 หาทีมเลื่อนชั้นไทยลีก 1 รอบรองชนะเลิศ (เหย้า-เยือน) จะแข่งขันวันที่ 4 และ 10 เมษายน ขณะที่รอบชิงชนะเลิศ (เหย้า-เยือน) จะแข่งขันวันที่ 17 และ 24 เมษายน 

 

2. ข้อปฏิบัติในการแข่งขัน

 

2.1 ไทยลีกและสโมสรส่งรายชื่อนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่จะทำการแข่งขันตลอดฤดูกาลให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อส่งต่อกระทรวงมหาดไทย และประสานต่อไปยังจังหวัดในการขออนุญาตให้มีการแข่งขัน และเอกสารรับรองการเดินทางข้ามจังหวัด

 

2.2 ผู้จัดการแข่งขันจัดการแข่งขันตามคู่มือจัดการแข่งขันฟุตบอลแบบปิด และให้มีการใช้แอปพลิเคชันไทยชนะและสปิริต

 

2.3 นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ต้องผ่านการตรวจเชื้อโควิด-19 ทุกเดือน หากพบผู้ติดเชื้อ ให้แจ้งหน่วยงานสาธารณสุขที่รับผิดชอบและดำเนินการควบคุมโรค และใช้แอปพลิเคชันหมอชนะ

 

2.4 ลดจำนวนผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในสนามไม่เกิน 150-180 คน โดยแบ่งจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ นักกีฬา, พนักงานจัดกิจกรรม, สื่อและถ่ายทอดสด และ VIP

 

3. การเดินทางและที่พัก

 

3.1 จำกัดการเดินทางเฉพาะจุดหมายที่จำเป็น และลดการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง / ชุมชน

 

3.2 สำหรับการเดินทางโดยรถบัสส่วนตัว ในจังหวัดที่ระยะทางไม่ไกลมาก ให้เดินทางจากจุด A (ภูมิลำเนา) ไปถึงจุด B (สนามแข่งขัน / โรงแรม / สนามฝึกซ้อม) เป็นหมู่คณะ ทั้งไปและกลับ

 

3.3 หากต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการรับประทานในระหว่างโดยสารหรืออยู่ในสนามบิน รักษาระยะห่างกับบุคคลอื่นๆ นอกเหนือหมู่คณะของตนเอง

 

3.4 สโมสรเจ้าบ้านจะอำนวยความสะดวกในการประสานงาน จัดหาโรงแรมภายในจังหวัดให้แก่ทีมเยือนได้เลือกอย่างน้อย 2 โรงแรม โดยโรงแรมจะต้องสามารถแยกสัดส่วนระหว่างแขกทั่วไปและทีมเยือนได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ทีมเยือนจะต้องงดใช้พื้นที่ส่วนกลางของโรงแรมในทุกกรณี

 

4. มาตรการป้องกันตัวเอง

 

4.1 ศบค. เข้าใจว่าการทำบับเบิ้ลแบบเต็มรูปแบบกับฟุตบอลลีกสามารถทำได้ยาก จึงอนุญาตให้นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทีมสามารถพักในที่พักของตนเองได้หลังจากแข่งขันเสร็จ แต่หากมีสโมสรใดสามารถทำการกักตัวทีมเป็นหมู่คณะ ก็สามารถทำได้ เพื่อป้องกันการรับเชื้อจากปัจจัยภายนอก

 

4.2 สำหรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้หลีกเลี่ยงไปพื้นที่เสี่ยงหรือสถานที่ที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือทำความสะอาด รักษาระยะห่าง และให้เฝ้าระวังอาการ ตรวจวัดอุณหภูมิอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจพิจารณาการแยกกลุ่มซ้อม (Small Side Training) เพื่อแยกระดับความเสี่ยงในทีม

 

5. การเปลี่ยนตัวผู้เล่น

 

5.1 ไทยลีก 1-2 เพิ่มการเปลี่ยนตัวสำรองเป็น 5 คน โดยทีมสามารถเปลี่ยนตัวได้ 3 ครั้ง ไม่รวมพักครึ่ง

 

5.2 กรณีที่มีการต่อเวลาการแข่งขัน (สำหรับบอลถ้วย / เพลย์ออฟ) สามารถเปลี่ยนได้อีก 1 คน และเปลี่ยนได้อีก 1 ครั้ง เพิ่มเติมจากเวลาปกติ (ไม่รวมก่อนเริ่มต่อเวลาและพักครึ่งต่อเวลา)

 

6. ขั้นตอนการปฏิบัติกรณี VAR ขัดข้อง

 

6.1 FIFA และ IFAB ชี้แจงว่า VAR เป็นเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการตัดสินเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อ VAR ขัดข้อง การแข่งขันยังคงดำเนินการต่อ จะไม่มีการยกเลิกการแข่งขัน โดยนโยบายการยกเลิกการใช้งาน VAR ที่สมาคมฯ และไทยลีกใช้อยู่ปัจจุบัน เป็นการตามคำแนะนำจาก FIFA และ IFAB

 

6.2 เมื่อเกิดเหตุขัดข้อง ผู้ตัดสินจะทำการเรียนนักกีฬาและโค้ชของทั้ง 2 ทีม ผู้ควบคุมการแข่งขัน และผู้จัดแข่งขัน (LOC) เพื่อทำการประกาศ

 

6.3 หากเกิดขัดข้องในครึ่งแรก ให้ยกเลิกการใช้งานตลอดครึ่งแรกทันที จะกลับมาใช้งานได้ก็ต่อเมื่อซ่อมแซมเสร็จภายในช่วงพักครึ่งเวลาเท่านั้น

 

6.4 หากขัดข้องในครึ่งหลัง ให้ยกเลิกการใช้งานตลอดช่วงเวลาที่เหลือของเกมดังกล่าว

 

นอกจากนี้ ยังได้ชี้แจงว่า ค่าตรวจโควิด-19 ทุกเดือน ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะเป็นคนออกค่าใช้จ่ายตรวจให้ทั้ง 3 ครั้ง 

 

ส่วนกรณีที่ตรวจพบนักฟุตบอลติดเชื้อโควิด-19 หลังติดเชื้อจะมีทีมของสาธารณสุข กรมควบคุมโรคเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในการกักตัวผู้ติดเชื้อ อาจไม่ใช่ทั้งทีมที่ต้องกักตัว แต่ต้องแยกผู้ติดและกลุ่มเสี่ยงออกไปแทน โดยมาตรการขึ้นอยู่กับกรมควบคุมโรค 

 

โดยหากทีมใดทีมหนึ่งถูกกักตัวไปถึงครึ่งทีม ไทยลีกอาจต้องเดินหน้าต่อไปจนจบฤดูกาล และไม่สามารถเลื่อนได้อีกแล้ว เนื่องจากโปรแกรมที่อัดแน่นไปจนจบฤดูกาล

 

ขณะที่การถ่ายทอดสด ทางไทยลีกและสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ผลิตสัญญาณให้หมดทุกคู่ของไทยลีก ในช่วงสุดสัปดาห์จะมีการถ่ายทอดสดผ่านทางช่องฟรีทีวี ขณะที่กลางสัปดาห์ ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และไทยลีกจะผลิตสัญญาณถ่ายทอดสดส่งให้กับทางสโมสร ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สโมสรสามารถดึงสัญญาณไปถ่ายทอดผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้ 

 

ส่วนทางเลือกตัดจบฤดูกาล ทางไทยลีกยืนยันว่าจะเป็นทางเลือกสุดท้าย ไม่ได้อยู่ในแผนการเตรียมการ โดยหวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วประเทศไทยจะดีขึ้น จนสามารถปลดล็อกมาตรการป้องกันต่างๆ ได้มากขึ้นระหว่างการแข่งขัน 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X