ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยหลังจากที่ กนง. ในวันนี้ (2 สิงหาคม) มีมติปรับดอกเบี้ยนโยบายเป็น 2.25% ต่อปีว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวจะเป็น Terminal Rate ของไทยหรือไม่ เนื่องจากยังมีความเป็นไปได้ที่ในการประชุมรอบหน้าคณะกรรมการจะตัดสินใจคงดอกเบี้ยหรือขึ้นดอกเบี้ยต่อ ซึ่งการพิจารณาจะขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่มีความอัปเดตมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าดอกเบี้ยของไทยในปัจจุบันอยู่ในจุดที่เข้าใกล้ Neutral Zone หรือจุดที่เป็นกลางต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ผ่อนคลายหรือตึงตัวเกินไป ช่วยให้เงินเฟ้อนิ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายและเศรษฐกิจอยู่ในระดับศักยภาพมากขึ้น ซึ่งภายใต้บริบทดังกล่าวการดำเนินนโยบายทางการเงินจะต้องใช้วิจารณญาณด้วยความระมัดระวัง
“อัตราดอกเบี้ยแท้จริงของเราอยู่ในจุดที่ใกล้เป็นบวกแล้วหรืออาจจะเป็นบวกแล้วในบาง Indicator ส่วนรอบหน้าดอกเบี้ยจะหยุดหรือขึ้นต่อยังเป็นไปได้ทั้งคู่ ขึ้นกับข้อมูลที่จะเข้ามาและการวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เราไม่ได้ปักหมุดชัดเจนว่าต้องทำอะไรในรอบหน้า” ปิติกล่าว
ปิติระบุว่า เศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้าจากปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ความไม่แน่นอนทางการเมืองและแนวนโยบายเศรษฐกิจภาครัฐ และความรุนแรงของภาวะเอลนีโญต่ออัตราเงินเฟ้อที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
“การจัดตั้งรัฐบาลยังมีความไม่แน่นอนสูง ต้องรอดูความชัดเจนว่านโยบายจะมาในรูปแบบใด เราก็หวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะดำเนินการได้เร็ว เพราะยิ่งช้าจะยิ่งกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณที่ปัจจุบันล่าช้ามา 2 ไตรมาสแล้ว โดยผลกระทบหลักๆ คือการหายไปของโครงการลงทุนใหม่ๆ ของภาครัฐ แต่ที่จะกระทบมากกว่าคือการลงทุนของภาคเอกชนและ FDI ที่อาจหายไป” ปิติกล่าว