×

ดอกเบี้ยไทยกำลังเป็น ‘ขาขึ้น’ สั่นสะเทือนหุ้นกลุ่มใดบ้าง?

13.06.2022
  • LOADING...
ดอกเบี้ยไทย

จากผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา แม้จะมีมติคงดอกเบี้ยที่ 0.5% แต่ด้วยผลโหวตที่แตกออกเป็น 2 ฝั่ง คือ คงดอกเบี้ย 4 เสียง และขึ้นดอกเบี้ย 3 เสียง ทำให้หลายฝ่ายเริ่มประเมินกันแล้วว่าจะเห็นประเทศไทยกลับมาขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ 

 

วงจรดอกเบี้ยขาลงของไทยอยู่มาตั้งแต่ปลายปี 2554 ระหว่างนั้นมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง คือ เมื่อเดือนธันวาคม 2561 ขยับจาก 1.5% มาเป็น 1.75% ก่อนที่ดอกเบี้ยจะกลับมาเป็นขาลงอีกครั้งตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 และลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% จนถึงปัจจุบัน 

 

‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ มักเป็นลบต่อตลาดในทางทฤษฎี

หนึ่งในคำถามสำคัญเกี่ยวกับการลงทุนที่ตามมาจากประเด็นข้างต้น คือ ตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร วิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่าย Private Wealth Management ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในทางทฤษฎีการขึ้นดอกเบี้ยมักจะเป็นลบต่อตลาดหุ้น และอย่างที่เราเห็นหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นเติบโตถูกเทขายออกมาก่อนหน้านี้ เมื่อตลาดเริ่มรับรู้ว่าดอกเบี้ยกำลังจะขึ้น 

 

“แต่ในความเป็นจริงตลาดมักจะเล่นนำหน้านโยบายไปก่อนแล้ว อย่างบอนด์ยีลด์ของไทยที่วิ่งขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ฉะนั้นเมื่อถึงจังหวะที่แบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ยจริง ตลาดหุ้นอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก” 

 

การขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งถัดไป ไม่น่าจะกระทบต่อตลาดมากนัก หากมองจากระดับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ณ ขณะนี้ ส่วนหุ้นที่น่าจะได้รับผลกระทบอาจจะเป็นกลุ่มหุ้นที่เทรดบน P/E ระดับสูง 

 

สถิติในอดีตบอกว่า 2 เดือนก่อนขึ้นดอกเบี้ยจริง SET มีโอกาสร่วง 5% 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า จากการศึกษาย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2544 มีรอบของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทั้งสิ้น 5 ครั้ง ดัชนี SET มักจะย่อตัวลงก่อนการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของแต่ละรอบ โดยความเสี่ยงในการปรับตัวลงของดัชนี SET อยู่ที่ 5% นั่นหมายความว่าหากการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในระหว่างนี้ไปจนถึงเดือนสิงหาคม ดัชนี SET มีโอกาสจะวิ่งลงไปสู่ระดับ 1,554 จุด 

 

นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจกดดันให้นักลงทุนปรับลดการยอมรับตัวคูณของตลาดในระดับที่ต่ำลง ส่งผลให้เป้าหมายของดัชนีในปีนี้จะถูกปรับลงไปด้วย โดยเดิมทีเราประเมินเป้าหมายของ SET ที่ 1,670 จุด จะลดลงมาเหลือ 1,630 จุด จากการให้ P/E ที่ลดลงจาก 15.7 เท่า เป็น 15.3 เท่า 

 

หุ้นผู้ชนะและผู้แพ้หากดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่อง 

วิริยะชัยกล่าวต่อว่า การพิจารณาผลกระทบต่อหุ้นต่างๆ ในตลาด อาจมองแค่เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยอย่างเดียวไม่ได้ เพราะที่มาที่ไปของการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งนี้เชื่อมโยงกับเรื่องของเงินเฟ้อเป็นสำคัญ 

 

แน่นอนว่าหากดอกเบี้ยปรับขึ้น หุ้นกลุ่มธนาคารและประกันจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ลำดับแรกๆ โดยกลุ่มธนาคารจะได้แรงหนุนจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนประกันจะได้ประโยชน์จากการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว และการหาผลตอบแทนจากบอนด์ยีลด์ที่สูงขึ้น 

 

นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มที่เชื่อมโยงกับพลังงาน สินค้าเกษตรต้นน้ำ และโลหะหนัก จะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์เช่นกันจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง 

 

ในมุมกลับกัน ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่สูงอาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 

 

  1. หุ้นที่มีต้นทุนพลังงานในสัดส่วนที่สูง

 

  1. หุ้นที่มีภาระหนี้สินสูง โดยเฉพาะหนี้ในระยะสั้น

 

  1. หุ้นที่ต้องใช้สินค้าโภคภัณฑ์มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า เช่น อิเล็กทรอนิกส์ และอาหารแปรรูป

 

ด้าน บล.อาร์เอชบี มองว่า หุ้นกลุ่มการเงิน เช่น SAWAD, MTC, TIDLOR, SAK, NCAP และ HENG มีแนวโน้มจะถูกกดดันจากการที่ดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับขึ้น

 

หุ้นแบงก์ที่ควรจะได้ประโยชน์อาจไม่ดีอย่างที่คิด

ณัฐชาตกล่าวต่อว่า โดยปกติแล้วการขึ้นดอกเบี้ยควรจะส่งผลบวกต่อหุ้นธนาคาร หากเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในสภาวะที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว 

 

“ปัจจุบันหากดูอัตราส่วนเงินกู้ต่อเงินฝาก หรือแม้แต่การเติบโตของสินเชื่อของแต่ละแบงก์ยังไม่ค่อยดีนัก อย่างไตรมาสแรกที่ผ่านมา กำไรของแบงก์ออกมาดี แต่เป็นเพราะการตั้งสำรองน้อยลง ไม่ได้เกิดจากสินเชื่อที่เติบโต” 

 

และหากมองแนวโน้มในระยะถัดไปซึ่งเศรษฐกิจถูกกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่ม ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะประหยัดการใช้จ่าย ขณะที่ภาคธุรกิจก็อาจจะชะลอโครงการต่างๆ ในส่วนนี้จะทำให้ความต้องการสินเชื่ออาจจะดีสุดแค่ทรงตัว 

 

ประเด็นสำคัญคือ ดอกเบี้ยของสินเชื่อแบงก์มักจะล้อไปกับดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาว ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากมักจะล้อไปกับดอกเบี้ยนโยบาย แต่ขณะนี้มีแนวโน้มที่เราจะเห็น Yield Curve มีลักษณะแบนราบมากขึ้น เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต ทำให้แม้ว่าเราจะเห็นดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น แต่ดอกเบี้ยระยะยาวอาจไม่ได้ปรับขึ้นตาม ในขณะที่เงินฝากซึ่งเป็นต้นทุนของแบงก์ถูกปรับขึ้น 

 

“การขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ผู้บริโภคน่าจะถูกกระทบหนัก โดยเฉพาะผู้ที่มีหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้หุ้นแบงก์ที่มีฐานลูกค้าอิงกับสินเชื่อบุคคลอาจมีหนี้เสียมากขึ้น ในขณะที่ภาคธุรกิจอาจไม่กระทบมากนัก และอาจมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นบางส่วนจากการเปิดประเทศ ทำให้หุ้นแบงก์ที่น่าจะเด่นสุดคือ BBL” 

 

นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มบริหารหนี้มีโอกาสจะเด่นขึ้นมาหากเริ่มเห็นหนี้เสียถูกขายออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่อาจจะเป็นหลุมหลบภัยซึ่งน่าจะปรับลงน้อยกว่าตลาด คือ การแพทย์ สินค้าจำเป็น และสาธารณูปโภค 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising