×

พาณิชย์ยืนยัน ไทยไม่เข้าข่าย ‘เงินฝืด’ หลังเงินเฟ้อติดลบ 0.44% ใน พ.ย. หนักสุดในรอบ 33 เดือน เตือน ธ.ค. น่าจะติดลบต่อ

07.12.2023
  • LOADING...
อัตราเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อไทยเดือนพฤศจิกายน -0.44% ติดลบ 2 เดือนติดต่อกัน และติดลบหนักสุดในรอบ 33 เดือน เหตุมาตรการลดค่าครองชีพภาครัฐ ด้านกระทรวงพาณิชย์เตือน ธันวาคมน่าจะติดลบต่อ แต่ประเมินเฉลี่ยทั้งปีนี้ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย

 

วันนี้ (7 ธันวาคม) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของไทยเดือนพฤศจิกายน 2566 ลดลง 0.44%YoY ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน สาเหตุสำคัญยังคงเป็นมาตรการภาครัฐด้านพลังงานที่ทำให้สินค้าในกลุ่มพลังงานปรับลดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันในกลุ่มดีเซลและแก๊สโซฮอล์ 91 นอกจากนี้ เนื้อสุกร ไก่สด และน้ำมันพืช ราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

 

เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 ลดลง 0.25%MoM ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกสูงขึ้น 0.58%YoY

 

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 สูงขึ้น 1.41% ซึ่งอยู่ในกรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2566 (ที่ 1-3%)

 

พาณิชย์คาด เงินเฟ้อเดือนธันวาคมติดลบต่อเป็นเดือนที่ 3

 

พูนพงษ์กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคม 2566 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากช่วงเดือนที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

 

เนื่องจากราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร กลุ่มพลังงาน รวมถึงสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพอีกหลายรายการ และต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลงจากมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ประกอบกับฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง 

 

นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งผู้ผลิตในเดือนพฤศจิกายนก็ติดลบ 2.1%YoY ทั้งนี้ PPI จะเป็นตัวที่ออกมาก่อน CPI ดังนั้นหาก PPI มีค่าลดลงมักจะทำให้ CPI มีค่าที่ลดลงตามไปด้วย

 

เปิดประมาณการเงินเฟ้อปีนี้-ปีหน้า

 

กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 1.0-1.7% (ค่ากลาง 1.35%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน 

 

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ปี 2567 จะอยู่ระหว่างติดลบ 0.3-1.7% (โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 0.7%) ซึ่งมองว่าเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย

 

กระทรวงพาณิชย์กล่าวอีกว่า สำหรับคาดการณ์เงินเฟ้อปีหน้า ได้พิจารณาผลจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไปแล้ว โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่า โครงการดังกล่าวจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อไม่มาก เพียง 0.2% เท่านั้น พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า ประมาณการเงินเฟ้อดังกล่าวของกระทรวงพาณิชย์ในปีหน้ายังใกล้เคียงกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งอยู่ที่ 2.0% ในปี 2567 แบบไม่รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยหากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 จะอยู่ที่ 2.2%

 

พาณิชย์ยืนยัน ไทยไม่เข้าข่ายเงินฝืด

 

ทั้งนี้ ตามนิยามของธนาคารกลางยุโรป (ECB) การจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ ต้องเข้าเงื่อนไข 4 ข้อ ได้แก่

  1. อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานานพอสมควร (Prolonged Period) 
  2. อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายในหลายๆ หมวดสินค้าและบริการ
  3. การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวต่ำกว่าเป้าหมายระยะปานกลางอย่างมีนัย  
  4. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และอัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น

 

โดยพูนพงษ์อธิบายว่า ไทยไม่เข้าข่ายเงินฝืด เนื่องจากตามคำนิยามทางเทคนิค ไทยอาจเข้าข่ายข้อเดียวคือ ‘ติดลบต่อเนื่อง’ อย่างไรก็ดี ตามการพิจารณาของธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กำหนดว่า การติดลบต่อเนื่องหมายความว่า อัตราเงินเฟ้อต้องติดลบติดต่อกัน 1 ไตรมาส

 

นอกจากนี้ ราคาสินค้าและบริการยังไม่ติดลบในหลายหมวดสินค้า โดยกระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่า เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนปีก่อน (YoY) ในตะกร้าสินค้า CPI ทั้ง 430 รายการ มีสินค้าที่ราคาลดลง 92 รายการเท่านั้น เทียบกับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น 291 รายการ และสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 47 รายการ สะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้อติดลบยังไม่กระจายในหลายๆ หมวดสินค้าและบริการ

 

ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยก็ยังขยายตัวได้ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการว่า GDP ทั้งปี 2566 จะขยายตัว 2.5% ส่วนประมาณการของปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 3.2% (กรอบ 2.7-3.7%)

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X