กระทรวงพาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคมอยู่ที่ 5.98% ชะลอตัวเป็นเดือนที่ 2 ตามราคาอาหารและพลังงาน คาดลดลงต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี แต่ยังมองราคาน้ำมันดิบ-บาทอ่อนเป็นปัจจัยเสี่ยง
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนตุลาคม 2565 เท่ากับ 108.06 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 101.96 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 5.98% ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ที่สูงขึ้น 6.41% ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าในกลุ่มอาหาร ประกอบกับฐานดัชนีราคาฯ ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ระดับสูง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความท้าทาย ‘ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ’ กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ
- ฉวยจังหวะค่าเงินอ่อน ส่องโอกาสลงทุนหุ้นโลก สร้างพอร์ตเติบโตระยะยาว
- ‘ส่วนต่างรายได้’ กับนโยบายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เกิดจากการชะลอตัวของราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดที่ขยายตัว 10.48% ลดลงจาก 10.97% ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ราคาชะลอตัว ได้แก่ เนื้อสัตว์ (เนื้อสุกร ไก่สด) ผักสดและผลไม้ (ต้นหอม ผักบุ้ง ส้มเขียวหวาน แตงโม) รวมทั้งเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง) อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าสำคัญที่ปรับลดลง เช่น แป้งข้าวเจ้า ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักชี ขึ้นฉ่าย กล้วยน้ำว้า มะพร้าวผลแห้ง/ขูด และมะขามเปียก เป็นต้น
ขณะที่ราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มชะลอตัวลงตามการชะลอของราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งค่ายาและเวชภัณฑ์ ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ราคาชะลอตัวเช่นกัน สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ยาสมุนไพร/ยาแผนโบราณ หน้ากากอนามัย แป้งผัดหน้า เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า เป็นต้น
“ในภาพรวมเราพบว่าในเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 187 รายการ สินค้าที่ราคาปรับลดลง 79 รายการ และสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 164 รายการ” พูนพงษ์กล่าว
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก อยู่ที่ 3.17% (YoY) สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.05% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนตุลาคม 2565 เทียบกับเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้น 0.33% สูงขึ้นเพียงเล็กน้อย ตามราคาผักสดบางประเภทที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขณะที่เนื้อสัตว์ (เนื้อสุกร ไก่สด) ผลไม้ (ส้มเขียวหวาน ลองกอง) เครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม น้ำปลา) อาหารโทรสั่ง (Delivery) และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ราคาปรับลดลง และดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 6.15% (AoA)
ด้านดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนตุลาคม 2565 ชะลอตัว 9.9% (YoY) เทียบกับ 10.5% ในเดือนก่อนหน้า เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ตามการชะลอตัวของสินค้าในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ราคาปรับสูงขึ้นตามราคาปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตยังสูงกว่าปีก่อนคือ ต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง และเงินบาทที่อ่อนค่า
ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนตุลาคม 2565 ชะลอตัว 3.6% (YoY) จาก 5.2% ในเดือนก่อนหน้า ตามราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงกว่าปีก่อนยังคงมีสาเหตุจากราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ ปัญหาอุทกภัย และราคาพลังงานที่สูงขึ้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ระดับ 47.7 จากระดับ 46.4 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ยังอยู่ในความเชื่อมั่นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.7 สาเหตุมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาในช่วงที่เหลือของปี และราคาน้ำมันที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย ซึ่งจะกดดันต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคได้ในระยะต่อไป
คาดเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนชะลอตัวต่อเนื่อง
สนค. ได้คาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายน 2565 ว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่องตามราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการที่ชะลอตัวลง และบางรายการราคาทรงตัวแม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย จะส่งผลให้สินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อของไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่อุปทานยังตึงตัว อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากการส่งออก การท่องเที่ยว และราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังอยู่ในระดับดี รวมถึงเงินบาทที่ยังอ่อนค่า ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป
“ในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปี เราคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานจะชะลอตัวลงต่อเนื่องตามราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ปรับตัวลดลง และด้วยฐานเงินเฟ้อช่วงปลายปีที่อยู่ในระดับสูง โดยมีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 6% หรือใกล้เคียง 6%” ผอ.สนค. กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 อยู่ที่ระหว่าง 5.5-6.5% (ค่ากลาง 6.0%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย