×

อัตราเงินเฟ้อไทยเดือน พ.ย. สูงสุดในรอบ 6 เดือน กระทรวงพาณิชย์รอดูความชัดเจน VAT ก่อนประเมินผลกระทบ

04.12.2024
  • LOADING...
อัตราเงินเฟ้อไทยเดือน พ.ย. สูงสุดในรอบ 6 เดือน

อัตราเงินเฟ้อไทยเดือนพฤศจิกายนสูงขึ้น 0.95% ผลจากราคาอาหารและผักสดที่ปรับตัวสูงขึ้น และราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นกว่าราคาฐานในปีก่อน กระทรวงพาณิชย์คงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ที่ 0.2-0.8% (ค่ากลาง 0.5%) ย้ำขอรอดูความชัดเจน VAT ก่อนประเมินผลกระทบ

 

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.95% (YoY) นับเป็นการเพิ่มขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน และเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงสุดในรอบ 6 เดือน โดยปัจจัยสำคัญคือราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด และราคาน้ำมันดีเซลที่สูงกว่าราคาฐานในปีก่อน

 

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ลดลง 0.13% (MoM) เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยหลักมาจากการบริโภคที่ลดลงในหมวดของอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ปรับตัวลดลง -0.42% และจากราคาผักบางชนิด

 

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเฉลี่ย 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้น 0.32% (AoA) ยังคงต่ำกว่ากรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3%

 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนตุลาคม 2567 ปรับตัวสูงขึ้น 0.8% (YoY)

 

เงินเฟ้อภาคใต้ปรับตัวสูงสุดท่ามกลางน้ำท่วมใหญ่

 

พูนพงษ์เผยว่า ในเดือนพฤศจิกายนอัตราเงินเฟ้อภาคใต้สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น โดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อภาคใต้เป็นสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น รวมทั้งเป็นผลจากราคาผักสดที่ราคาปรับตัวลดลงน้อยกว่าภูมิภาคอื่น

 

เปิดแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะถัดไป ยังไม่ประเมินผลจากการขึ้น VAT

 

พูนพงษ์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคมจะปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 1.2-1.3% อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.2-0.8% (ค่ากลาง 0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2568 คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจากปีนี้อยู่ที่ 0.3-1.3% (ค่ากลาง 0.8%) ส่วนผลกระทบหากกระทรวงการคลังปรับขึ้น VAT นั้น พูนพงษ์กล่าวว่า ต้องรอเตรียมข้อมูลเพื่อความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

 

โดยมีปัจจัยสำคัญที่หนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2568 ปรับสูงขึ้น ได้แก่

  1. เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ทั้งการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น
  2. ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2567 
  3. การใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท

 

ขณะที่ปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่

  1. ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้า และการตรึงราคาก๊าซ LPG
  2. ฐานราคาผักและผลไม้สดในปี 2567 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เอลนีโญและลานีญา ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อราคาไม่มากนัก 
  3. การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศจะส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด
  4. สินค้าสำคัญมีแนวโน้มปรับขึ้นราคาอย่างจำกัดจากปัจจัยด้านต้นทุนสำคัญที่มีแนวโน้มปรับลดลง เช่น อัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันในตลาดโลก

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X