ภาพรวม เงินเฟ้อ และตลาดในเดือนกรกฎาคมอยู่ในโหมดฟื้นตัว โดยปรับตัวลงในช่วงครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม หลังตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาเดือนมิถุนายนออกมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ทำจุดสูงสุดต่อเนื่องในรอบ 41 ปี และสูงกว่าคาดที่ร้อยละ 8.8 ทำให้ Fed Funds Futures ปรับการคาดการณ์ว่า Fed มีโอกาสจะขึ้นดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 1.0 ในการประชุมปลายเดือนกรกฎาคม และเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากสัญญาณการกลับตัวของเส้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล หรือดูจากส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี กับ 2 ปี ที่ติดลบมากขึ้น
นอกจากนี้ตลาดก็กังวลเรื่องวิกฤตพลังงานในยุโรป และปัญหาอสังหาในจีนที่ผู้บริโภคมีการประท้วงไม่จ่ายค่างวดสำหรับอสังหาที่ยังสร้างไม่เสร็จด้วย นักลงทุนจึงมีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยง ได้แก่ หุ้น คริปโตเคอร์เรนซี และสินค้าโภคภัณฑ์ และโยกเงินเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย คือ พันธบัตรรัฐบาล และเงินสหรัฐฯ สำหรับ Dollar Index แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.7 จากเดือนที่ผ่านมา และหากนับจากต้นปี ค่าเงินสหรัฐฯ ก็แข็งค่ากว่าร้อยละ 13.6 หลังยูโรต่อดอลลาร์ (อ่อนลงร้อยละ 10 จากต้นปี) ดอลลาร์ต่อเยน (อ่อนลงร้อยละ 20 จากต้นปี) และปอนด์ต่อดอลลาร์ (อ่อนลงร้อยละ 11 จากต้นปี)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นถึงโครงสร้างด้านพลังงานในยุโรป เพื่อให้เราสามารถวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ในปัจจุบันได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวมได้มีการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคม หลังสหรัฐฯ รายงานตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อ สำรวจโดย University of Michigan เดือนกรกฎาคมปรับตัวลงเป็นร้อยละ 2.8 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 1 ปี และลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.1 ทำให้ตลาดคลายกังวล และปรับลดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เหลือแค่ร้อยละ 0.75 สำหรับการประชุมในเดือนกรกฎาคม ซึ่งท้ายสุดแล้วผลการประชุมก็ออกมาตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ และมีแนวโน้มที่เปลี่ยนไปจากเดิมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจ โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะยังคงมีอย่างต่อเนื่องเพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อ และ Fed ได้เห็นถึงการชะลอตัวลงบ้างในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภค
นอกจากนี้ การที่รัสเซียกลับมาส่งออกก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ Nord Stream 1 และอนุญาตให้ยูเครนส่งออกข้าวสาลีผ่านทางเรือในทะเลดำ โดยแลกกับที่ยุโรปปลด Sanction ให้กับธนาคารรัสเซียในส่วนของการเทรดอาหารและปุ๋ย ทำให้ตลาดคลายกังวลเรื่องวิกฤตพลังงานไปได้ส่วนหนึ่ง
สินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์ปลอดภัยปรับตัวขึ้นในเดือนกรกฎาคม โดยดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวขึ้นร้อยละ 3.5 ในเดือนกรกฎาคม (ถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2022) โดยดัชนีรายภูมิภาคมีทั้งบวกและลบตามปัจจัยเฉพาะตัว ได้แก่ ดัชนี MSCI Asia ex Japan (ลดลงร้อยละ 1.7), MSCI Europe (ลดลงร้อยละ 2.2) และ MSCI USA (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9)
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.07 เป็นร้อยละ 3.02 สะท้อนการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในขณะที่พันธบัตรระยะยาว อายุ 10 ปี กลับปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 0.22 เป็นร้อยละ 2.80 สะท้อนความกังวลต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ส่วนสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำ ปรับตัวลงร้อยละ 4.8 เพราะนักลงทุนมองว่าค่าเงินสหรัฐฯ ที่แข็งค่า และการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ทำให้ทองคำมีความน่าสนใจน้อยลง ในส่วนของราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงร้อยละ 7.5 เทียบกับเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดกังวลเรื่องอุปสงค์น้ำมันที่ชะลอตัวจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น และการแข็งค่าของค่าเงินสหรัฐฯ ทำให้การซื้อน้ำมันในรูปสกุลอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินสหรัฐฯ มีราคาแพงขึ้นด้วย
สำหรับตลาดหุ้นไทยเดือนกรกฎาคมปรับตัวลดลงร้อยละ 0.5 (วันที่ 1-25 กรกฎาคม) ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ลดลงร้อยละ 0.28 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.61 เพราะตลาดปรับมุมมองตามตลาดสหรัฐฯ ว่าเงินเฟ้อกำลังจะผ่านจุดสูงสุด และเริ่มสะท้อนความเสี่ยงของเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้น หลัง Fed เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มปรับตัวลงเร็วกว่าสหรัฐฯ จากภาพรวมอุปสงค์ที่อ่อนแอกว่าและเศรษฐกิจโตช้ากว่า ค่าเงินบาทเทียบค่าเงินสหรัฐฯ ยังอ่อนค่าต่อเนื่องอีกร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เป็น 36.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามทิศทาง Dollar Index ที่แข็งค่า โดยนักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทย 1.8 พันล้านบาท แต่มีสถานะขายสุทธิตลาดตราสารหนี้ไทย 1.5 พันล้านบาท
ส่วนมุมมองการลงทุนในเดือนสิงหาคม ยังเน้นให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นไว้ประมาณร้อยละ 40-50 มีมุมมองเป็นกลางต่อตลาดหุ้นจากมาตรการที่รัดกุมของธนาคารกลางและสงครามในยูเครน และคงน้ำหนักการลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่ร้อยละ 35 และตราสารหนี้ระยะยาวที่ร้อยละ 5 เพราะมีมุมมองที่เป็นลบต่อพันธบัตรจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง ยกเว้นตราสารหนี้ระยะยาวที่มีมุมมองเป็นบวก เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจถดถอย ทำให้อัตราเงินเฟ้อและผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีแนวโน้มลดลง สุดท้าย สินทรัพย์ทางเลือก ได้แก่ ทอง น้ำมัน และ REITs ควรจะลงทุนร้อยละ 10-15 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อจะคงอยู่ในระดับที่สูงเป็นระยะเวลานาน
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP