×

ตีแผ่ปัญหาเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เป็นไปได้แค่ไหนที่จะลดช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย

13.12.2019
  • LOADING...
ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย แจงปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยใน 3 มิติ ทั้งด้านรายได้-ความมั่งคั่ง-โอกาสและคุณภาพชีวิต
  • ประเทศไทยมีช่องว่างระหว่างคนมีรายได้สูงที่สุดกับรายได้ต่ำที่สุดถึง 10.3 เท่า และความไม่เสมอภาคของไทยติดอันดับที่ 25 ของโลก ส่วนความเหลื่อมล้ำในมิติความมั่งคั่งไทยติดอันดับ 10 ของโลกในปี 2018 ที่ผ่านมา
  • ธปท. เจาะลึกความเหลื่อมล้ำของไทย มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างในมิติเชิงพื้นที่ และมิติเชิงรายได้ 

ปัญหาความเหลื่อมล้ำฝังรากลึกในไทยมาช้านาน และรัฐบาลพยายามหาทางแก้ไขปัญหานี้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร ประเทศไทยมีทางออกไหม ลองมาอ่านมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยกับปัญหานี้กัน

 

แบงก์ชาติฉายภาพความเหลื่อมล้ำไทยด้านรายได้-ความมั่งคั่ง-โอกาสและคุณภาพชีวิต

 

ธนาคารแห่งประเทศไทยออก 3 รายงานที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำของไทย เพื่ออธิบายในหลายมิติ โดยรายงานภาพรวมความเหลื่อมล้ำของไทยในศตวรรษที่ 21 จะเน้นเป็น 3 มิติ ได้แก่ 

 

ด้านรายได้ ไทยมีความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับสูง โดยปี 2015 อยู่ที่ 38% แม้จะปรับตัวดีขึ้นจากปี 1991 ที่อยู่ระดับ 46% แต่ความแตกต่างของรายได้กลุ่มที่มีรายได้สูงที่สุดกับกลุ่มที่มีรายได้ต่ำที่สุดอยู่ที่ 10.3 เท่า ซึ่งกลุ่มรายได้สูงสุดมีรายได้รวมกันเกิน 50% ของประชากรไทย

ทั้งนี้ในมิติจำนวนคนจนพบว่า 50% คนจนทั้งประเทศอยู่ที่ภาคเกษตร และยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะรายได้เกษตรเติบโตต่ำ มีผลมาจากตลาดโลกที่ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง

 

ล่าสุดรายงานของ World Economic Forum (2018) ชี้ว่าความไม่เสมอภาคของไทยอยู่อันดับที่ 25 จาก 107 ประเทศทั่วโลก ในขณะที่ประเทศเวียดนามอยู่ที่อันดับ 29 สิงค์โปร์อยู่อันดับที่ 36 ญี่ปุ่นอันดับที่ 87

 

ด้านความมั่งคั่ง สะท้อนจากข้อมูลในรายงาน World Economic Forum (2018) พบว่า ในระยะ 5 ปี 2013-2018 ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งในไทยเพิ่มขึ้น 2.5% และมีความเหลื่อมล้ำด้านนี้สูงที่สุดเป็นอันดับ 10 ของโลก 

 

ด้านโอกาสและคุณภาพชีวิต มีความเหลื่อมล้ำในระดับสูง เห็นได้จากโอกาสการศึกษาในเชิงพื้นที่ เมื่อดูระดับคะแนน PISA ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาแยกตามภูมิภาค พบว่าคะแนนของนักเรียนจากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ เช่น ภาคเหนือตอนบน ภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคอีสานตอนล่างอย่างมีนัยสำคัญในทุกสาขาวิชา ซึ่งจะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคต

 

นโยบายของภาครัฐแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ไหม? 

สาเหตุความเหลื่อมล้ำของไทย ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตคนไทยในทุกพื้นที่ ในรายงานเจาะลึกในมิติเชิงพื้นที่และมิติอาชีพของ ธปท. พบว่า 

 

มิติเชิงพื้นที่ ไทยมีการเติบโตกระจุกตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก ทำให้โอกาสในการสร้างรายได้ การจ้างงานต่างกับพื้นที่อื่น สะท้อนจากพื้นที่ในหลายภูมิภาคของไทย มีรายได้ต่อหัวต่ำกว่ากรุงเทพฯ มาก เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้ต่ำกว่า 9 เท่า 

 

ขณะเดียวกันงบประมาณของภาครัฐยังกระจุกตัวในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2016 งบประมาณเบิกจ่ายต่อหัวของคนกรุงเทพฯ คิดเป็น 54% ของทั้งประเทศ ขณะที่โครงสร้างอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อจำกัด มีส่วนให้การพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างพื้นที่แตกต่างกันมากขึ้น 

 

โดยในรายงานเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่และนัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย’ ของ ธปท. มีแนวนโยบายรัฐที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ ได้แก่ 

 

  • ภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณไปยังจังหวัดอื่นๆ นอกจากกรุงเทพฯ เพื่อสร้างสมดุล 
  • การกระจายความเจริญไปในภูมิภาคควรเลือกเมืองเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างและขยายเครือข่ายความเจริญจากเมืองเศรษฐกิจสู่พื้นที่โดยรอบในภูมิภาค
  • ภาครัฐควรแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น โครงสร้างอำนาจและความอิสระของท้องทิ่น การส่งเสริมสถาบันและหน่วยงานเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ให้เข้มแข็งจากภายใน

 

มิติอาชีพ

จากการศึกษาของ ธปท. พบว่า ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในกลุ่มอาชีพเกษตรอยู่ในระดับที่น่ากังวลกว่าอาชีพอื่นๆ ทำให้ทาง ธปท. มองว่า ครัวเรือนเกษตรกรเป็นกลุ่มที่ต้องเร่งดูแลเป็นอันดับแรก ผ่านการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เรื่องที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการปรับตัว ปรับธุรกิจให้ทันกับภาวะโลกที่เปลี่ยนไป เพื่อลดการเหลื่อมล้ำในกลุ่มนี้

 

โดยรายงานเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำมิติอาชีพของไทยกรณีศึกษาในอาชีพเกษตร’ มองว่านโยบานในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของครัวเรือนไม่สามารถใช้นโยบายใดนโยบายหนึ่งในการแก้ปัญหา แต่ภาครัฐต้องออกนโยบายที่เกี่ยวเนื่องและสนับสนุนกัน 

 

สุดท้ายแล้วความเหลื่อมล้ำอาจไม่ใช่ปัญหาหลักของไทย แต่เป็น ‘อาการ’ ว่าไทยเรามีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่เคยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องมาก่อน เมื่อไรภาครัฐจะเริ่มแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องกัน? 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X