×

Fitch Ratings ชี้แนวโน้มธุรกิจอุตสาหกรรมไทยจ่อดีขึ้น เผยจำนวนบริษัท Negative Outlook ลดเท่าช่วงก่อนโควิดแล้ว

11.07.2024
  • LOADING...

Fitch Ratings เผยรายได้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทยฟื้นตัวชะลอและไม่เท่ากัน โดยตั้งแต่ปี 2023 ถึงไตรมาส 2 ปีนี้ปรับลดอันดับเครดิตบริษัทภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทยไป 7 แห่งแล้ว อย่างไรก็ดี จำนวนบริษัทที่มี Negative Outlook กลับมาลดเท่าช่วงก่อนโควิดแล้ว พร้อมมองระยะข้างหน้าสถานการณ์จ่อดีขึ้น

 

วานนี้ (10 กรกฎาคม) โอบบุญ ถิรจิต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวในงาน Global Financial Market and Thailand’s Corporate Credit Outlook 2024 โดยระบุว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (ถึงไตรมาส 2 ปี 2024) มีการปรับลดอันดับเครดิตบริษัทในไทยลง (Negative Rating Actions) รวม 7 บริษัท โดยแบ่งเป็น ปี 2023 รวม 4 แห่ง และปี 2024 ปรับลดไปแล้ว 3 แห่ง จากบริษัทภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ Fitch Ratings รับจัดอันดับให้ทั้งหมด 23 แห่ง

 

โดยปัจจัยหลักมาจากความอ่อนแอของการบริโภค และภาวะอุปทานล้นตลาด ทำให้มีแรงกดดัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์และปิโตรเคมี

 

นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ทำให้ Fitch Ratings ต้องปรับลดมุมมองหรืออันดับความน่าเชื่อถือลง เนื่องมาจากหลายบริษัทลงทุนเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาด ดังนั้นอัตราส่วนหนี้สินจึงแย่ลง

 

 

อย่างไรก็ดี จำนวนบริษัทที่มีแนวโน้มเป็นลบ (Negative) ลดลงเท่าช่วงก่อนโควิดแล้ว ขณะที่ในระยะต่อไป 12-18 เดือนข้างหน้า จำนวนบริษัทที่ Negative Rating Actions น่าจะลดลง เนื่องจากบริษัทที่ Fitch Ratings จัดอันดับเครดิตส่วนใหญ่มีแนวโน้ม ‘มีเสถียรภาพ’ (Stable) สะท้อนว่าโอกาสที่จะมีการปรับเปลี่ยนเรตติ้งก็น้อยตามไปด้วย

 

หลังจากมีการดาวน์เกรดไปแล้วก่อนหน้านี้ ปัจจุบัน Fitch Ratings จึงมองว่าบริษัทที่รับจัดอันดับก็มีสถานะทางการเงินและอัตราส่วนหนี้สินสอดคล้องกับอันดับเครดิตแล้ว

 

นอกจากนี้ กระแสเงินสดของบริษัทต่างๆ ยังมีความแข็งแกร่ง แม้จะมีการเติบโตไม่มากนัก แต่ยังเพียงพอที่จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายการลงทุน และช่วยลดความเสี่ยงในช่วง 12 เดือนข้างหน้าได้

 

โดยช่วงปีที่ผ่านมา ผู้ออกหุ้นกู้หลายตัวจะประสบปัญหาในการชำระหนี้ โดยโอบบุญมองว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตสำหรับผู้ออกหุ้นกู้บางราย อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนบางส่วน เช่น ต่อหุ้นกู้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับหรือได้รับอันดับเครดิตต่ำ ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่อาจได้รับผลประโยชน์ด้วยซ้ำ

 

 

ใครถูกดาวน์เกรดในปีนี้แล้วบ้าง

 

  • 21 มีนาคม 2024: Fitch Ratings ปรับลดอันดับเครดิต บมจ.ไออาร์พีซี เป็น ‘BBB+(tha)’ จาก ‘A-(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • 24 เมษายน 2024: Fitch Ratings ปรับลดอันดับเครดิต บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ เป็น ‘BBB(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • 16 พฤษภาคม 2024: Fitch Ratings ปรับลดอันดับเครดิต บจ.เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ เป็น ‘BBB+(tha)’ จาก ‘A-(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ

 

รายได้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทยฟื้นตัวชะลอและไม่เท่ากัน

 

โอบบุญกล่าวอีกว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทยมีการฟื้นตัวของรายได้ไม่เท่ากัน นอกจากนี้ ระดับหนี้สินของบริษัทต่างๆ ก็น่าจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงก่อนหน้านี้

 

 

โดยบริษัทในอุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมโรงแรมและบริการ และอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดย Fitch Ratings ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของภาครัฐ

 

ขณะที่รายได้ของบริษัทในอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลง

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนขนาดใหญ่ในพลังงานหมุนเวียนที่ต่อเนื่องอาจส่งผลให้ระดับหนี้สินที่สูงอยู่แล้วสำหรับบริษัทในอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคปรับตัวสูงขึ้นอีกได้

 

โดย Fitch Ratings คาดว่ารายได้ของบริษัทน้ำมันและก๊าซน่าจะชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันและก๊าซน่าจะปรับตัวอ่อนตัวลง

 

อย่างไรก็ตาม รายได้โดยรวมน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่สูง แต่อุปสงค์ที่อ่อนแอจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการเพิ่มขึ้นของอุปทานใหม่ จะเป็นอุปสรรคในการปรับตัวของรายได้ของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

 

บริษัทในประเทศไทย (ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดย Fitch Ratings) มีการบริหารจัดการกระแสเงินสดอย่างระมัดระวังในช่วงการระบาดของโควิด โดยมีการลงทุนอย่างระมัดระวังและลดอัตราการจ่ายเงินปันผลลง

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนและการเข้าซื้อกิจการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสำหรับบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Transition) และการเปลี่ยนกระบวนการดำเนินธุรกิจและเทคโนโลยี (Business and Technology Transformation) คาดว่าจะส่งผลให้ระดับหนี้สินทรงตัวอยู่ในระดับสูงและจะจำกัดโอกาสที่จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิต

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising