×

ไทย – อินโดนีเซีย ควงคู่ขึ้นเป็นผู้นำการระดมทุนในภูมิภาค รวมมูลค่ากว่า 76% ของการระดมทุนหมด

15.11.2022
  • LOADING...

ผลสำรวจชี้ ตลาด IPO ในภูมิภาคอาเซียนในปีนี้ทรงตัวในเชิงปริมาณ แต่ลดลง 52% ในเชิงการระดมทุน โดยประเทศไทยและอินโดนีเซียเป็นผู้นำการระดมทุนหุ้น IPO ในปีนี้ มูลค่าการระดมทุนจากทั้งสองประเทศรวมกันคิดเป็น 76% ของมูลค่าการระดมทุนทั้งหมดทั่วทั้งภูมิภาค

 

เนื่องจากการซื้อขายหุ้น IPO มีการชะลอตัวลงจากปี 2021 ส่งผลให้เงินทุนจากการเสนอขายหุ้นครั้งแรกของบริษัทให้กับสาธารณะชน (IPO) มีมูลค่าลดลงทั่วทั้งตลาดทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 10.5 เดือนแรกของปีนี้ แม้ว่าจำนวนหุ้น IPO และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของหุ้น IPO คาดการณ์ว่าจะยังมีการทรงตัวจากปีก่อนหน้า


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข้อมูลจากดีลอยท์ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2022 แสดงให้เห็นว่า บริษัทต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถระดมทุนได้เป็นจำนวน 6.3 พันล้านดอลลาร์ จากหุ้น IPO ของบริษัทจำนวน 136 บริษัทในปีนี้ ลดลง 52% จากสถิติ 13.3 พันล้านดอลลาร์ จากหุ้น IPO ของบริษัทจำนวน 152 บริษัทในปี 2021

 

จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า มีหุ้น IPO รายย่อยจำนวนมากขึ้นในปีนี้ ส่วนใหญ่มาจากบริษัทขนาดเล็กที่ต้องการแพลตฟอร์มเพื่อระดมทุนในสภาพแวดล้อมของตลาดที่ท้าทายในปัจจุบัน ในปีนี้มี PT GoTo Gojek Tokopedia Tbk และ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นหุ้น IPO รายใหญ่เพียง 2 บริษัทเท่านั้น ซึ่งอาจหมายความว่าบริษัทขนาดใหญ่ ต่างรอเวลาและเลื่อนการเข้าจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ออกไปเพื่อรอช่วงเวลาที่สภาวะตลาดที่ดีขึ้น

 

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดได้กระตุ้นให้นักลงทุนรายย่อยรายใหม่หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น และส่งผลให้ตลาดหุ้น IPO คึกคักทั่วโลกในปี 2021 โดยสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร มีจำนวนเงินทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่วนตลาดทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็ประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมาเช่นกัน 

 

อย่างไรก็ตาม การซื้อขายหุ้น IPO กลับชะลอตัวลงในปีนี้ แม้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดได้ดีขึ้นเล็กน้อย โดยมูลค่าการระดมทุนลดลง 52% เมื่อเทียบกับหุ้น IPO ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรที่ลดลง 95% และ 91% ตามลำดับ

 

เท ฮวี ลิง Disruptive Events Advisory Leader ดีลอยท์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสิงค์โปร์ กล่าวถึงตลาดหุ้น IPO ในภูมิภาคนี้ว่า “ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด การซื้อขายหุ้น IPO มีความเคลื่อนไหวตามการเติบโตของเศรษฐกิจและ GDP แต่ 2 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์กลับเป็นตรงกันข้าม เช่นเดียวกับที่โลกกำลังเอาชนะการแพร่ระบาด การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจโลกและเปิดพรมแดนใหม่อีกครั้งได้กระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 4.7% ในปี 2021 เป็น 8.8% ในปี 2022 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของรัฐบาลกลาง เพิ่มขึ้นเกือบ 4% ตลอดทั้งปี เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น เมื่อพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคเหล่านี้ ตลาดหุ้น IPO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเติบโตได้ดี ในขณะที่เรายังคงเห็นศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค”

 

ไทย ‘รั้งแชมป์’ ผู้นำการระดมทุนสูงสุดในอาเซียน

ประเทศไทยยังคงรั้งตำแหน่งผู้นำที่สามารถระดมทุนจาก IPO ได้สูงสุดในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยระดมทุนได้ทั้งหมด 2.5 พันล้านดอลลาร์ จากหุ้น IPO ของบริษัท 28 บริษัท จำนวนเงินที่ระดมทุนได้ในปีนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกับจำนวนเงินจากการระดมทุนในปี 2017-2019 (มากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี) เป็นสัญญาณว่าสิ่งต่างๆ กลับสู่สภาวะเดิมก่อนเกิดโรคระบาด ส่วนในปี 2020 และ 2021 เงินจากการระดมทุนในแต่ละปีมีมูลค่ามากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ นักลงทุนต่างชาติที่ส่วนใหญ่หายไปในช่วงปีที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดได้กลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง

 

“เรายังคงเห็นการเสนอขายหุ้น IPO จากกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภค บริการทางการเงิน และธุรกิจก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ เราได้เห็น REIT ที่มีการลงทุนในการเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในระยะยาวของท่าอากาศยานเป็นครั้งแรก และมีบริษัท 39 แห่งที่คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนภายในปี 2023” วิลาสินี กฤษณามระ Disruptive Events Advisory Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าว

 

อินโดฯ รองแชมป์ รับเงินระดมทุน 2.3 พันล้านดอลลาร์

อินโดนีเซียรั้งอันดับ 2 ของภูมิภาคฯ ด้วยจำนวนเงินทุนที่ระดมทุนได้ถึง 2.3 พันล้านดอลลาร์ จากการเสนอขายหุ้น IPO 54 บริษัทในปี 2022 โดย PT GoTo Gojek Tokopedia Tbk เพียงบริษัทเดียวสามารถระดมทุนหุ้น IPO ได้ 1.1 พันล้านดอลลาร์ และครองตำแหน่งสูงสุดในกระดานผู้นำหุ้น IPO ของภูมิภาคในปีนี้ และ PT Global Digital Niaga Tbk หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘BliBli’ ตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยการระดมทุนจำนวน 516 ล้านดอลลาร์สหรัฐ GoTo และ Blibli ได้เข้าร่วมกับกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีในอินโดนีเซียที่กำลังเติบโต ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

อิเมลดา ออร์บิโต Disruptive Events Advisory Leader ดีลอยท์ อินโดนีเซีย กล่าวว่า “ตลาดทุนหุ้น IPO ของอินโดนีเซียเริ่มต้นได้ดีในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 และถึงแม้จะมีการชะลอตัวในไตรมาสที่ 3 แต่อินโดนีเซียยังคงเป็นหนึ่งในผู้นำตลาด IPO ในภูมิภาค การที่ GoTo และ BliBl สามารถระดมเงินทุนได้สูงเช่นนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดี ท่ามกลางภาวะตกต่ำของตลาดโลกอันเนื่องมาจากความกังวลทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น เรายังคงมองในแง่ดีว่าหุ้น IPO จากบริษัทด้านเทคโนโลยีจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีบริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอีกสองเดือนข้างหน้า เช่นเดียวกับบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน (Consumer non-cyclicals industry)

 

มาเลเซียมีจำนวนเงินระดมทุนเพิ่มขึ้น 102% 

ตลาดหุ้น IPO ของมาเลเซียได้ผ่านพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด โดยมีจำนวนเงินที่ระดมทุนได้เพิ่มขึ้น 102% อยู่ที่ 681 ล้านดอลลาร์ การระดุมทุนที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการที่นักลงทุนมีความต้องการลงทุนในบริษัทที่มีพื้นฐานที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำนวนของบริษัทจดทะเบียน ACE เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดิม 11 บริษัทในปี 2021 เพิ่มเป็น 22 บริษัทในปี 2022 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี เมื่อพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจผลักดันให้บริษัทพื้นฐานที่ดีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ต้องการใช้ประโยชน์จากตลาดตราสารทุนเพื่อให้มีฐานเงินทุนที่มีความหลากหลายและถูกกว่า

 

“แม้ตลาดหุ้น IPO จะได้รับผลกระทบจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังมีบริษัทต่างๆ ที่มองหาตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง ผลการดำเนินงานที่ดีในปี 2022 ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าตลาดทุนมาเลเซียมีการปรับตัวและฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว” หว่อง การ์ ชุน Disruptive Events Advisory Leader ดีลอยท์ มาเลเซีย กล่าว

 

สิงคโปร์คาดมีบริษัท SPAC เพิ่ม

สิงคโปร์มีการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 9 บริษัท โดยสามารถระดมทุนได้ 421 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10.5 เดือนแรกของปีนี้ ในจำนวนนี้ ประกอบด้วยบริษัทที่จดทะเบียนเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ (Special Purpose Acquisition Companies: SPAC) 3 บริษัท ซึ่งระดมทุนได้ 389 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหุ้น IPO ในกระดาน Catalist 6 บริษัท โดยระดมทุนได้เป็นจำนวน 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี

 

สำหรับการระดมทุนแบบ SPAC ที่เปิดตัวในประเทศสิงคโปร์ในเดือนกันยายน 2021 SPAC ในสิงคโปร์มีกำหนดระยะเวลาให้บริษัทระดมทุนได้ภายใน 24 เดือน โดยสามารถขยายระยะเวลาต่อได้อีก 12 เดือน จึงคาดการณ์ว่าบริษัทที่ผ่านการระดมทุนแบบ SPAC แล้ว (de-SPACs) จะสนับสนุนให้บริษัทอื่นๆ เข้ามาระดมทุนแบบ SPAC เพิ่มขึ้น


“ตั้งแต่ปี 2010 มี REIT หรือ Business Trust อย่างน้อยหนึ่งรายการในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) อย่างไรก็ตาม เราพบว่าไม่มี REIT ในช่วง 10.5 เดือนแรกของปีนี้ ถ้ามองในแง่ดี มีการเปลี่ยนแปลงในกระแสเงินทุนและการย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังประเทศสิงคโปร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการขยายโอกาสเพิ่มมากยิ่งขึ้นในตลาดหุ้น IPO ของสิงคโปร์ หากตลาดของเราสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ อีก 2-5 ปีข้างหน้าอาจเป็นปีทองสำหรับตลาดหุ้น IPO ของเรา นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ เช่น เสถียรภาพทางการเมืองของสิงคโปร์ การจัดการกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดที่ประสบผลสำเร็จ และการเปิดประเทศอย่างราบรื่นจะช่วยให้สิงคโปร์ยังคงดึงดูดความสนใจให้ธุรกิจต่างๆ เข้ามาจัดตั้งสำนักงาน” ดาร์เรน อึ้ง Disruptive Events Advisory Deputy Leader ดีลอยท์ สิงคโปร์ กล่าว

 

คาดการณ์แนวโน้มตลาด IPO ในอาเซียนโตต่อเนื่อง

สำหรับการคาดการณ์ในช่วงเวลาที่เหลือจนถึงปี 2023 เทให้ความเห็นว่า “ยังคงมีช่องว่างให้ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเติบโตได้อีกมาก เมื่อภูมิภาคผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด เราคาดว่าการซื้อขายหุ้น IPO จะผ่านพ้นช่วงเวลาที่มีความผันผวน เนื่องจากตลาดปรับโหมดจากสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดกลับสู่ ‘สภาวะปกติ’ แม้ว่าบริษัทเทคโนโลยีอาจได้รับการประเมินมูลค่าต่ำกว่าปกติในปัจจุบัน แต่บริษัทที่มีพื้นฐานทางธุรกิจที่มั่นคงและความสามารถที่พิสูจน์ได้ว่าธุรกิจสามารถสร้างผลกำไรได้ จะยังคงได้รับการประเมินมูลค่าตลาดที่ดีที่สุดและยังคงได้รับประโยชน์จากตลาดทุนได้”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising