×

จเรตำรวจฯ ไทย ถกตำรวจไซเบอร์อินเดีย เผยคดีคอลเซ็นเตอร์อินเดียสูงกว่าไทยเกือบ 10 เท่า เล็งผนึกกำลังปราบปราม

โดย THE STANDARD TEAM
09.05.2025
  • LOADING...
จเรตำรวจ

วานนี้ (8 พฤษภาคม) พล.ต.อ. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ เปิดเผยผลการหารือกับหน่วยงานตำรวจไซเบอร์ของอินเดีย

 

พล.ต.อ. ธัชชัย ระบุว่า จากมาตรการกดดันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะเมืองเมียวดีและเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ผ่านการตัดระบบสาธารณูปโภคสำคัญทั้งไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และน้ำมัน ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 

 

ส่งผลให้สามารถระดมกวาดล้างและควบคุมตัวผู้ทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ถึง 7,514 คน จาก 36 ประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวจีน (5,414 คน) รองลงมาคืออินโดนีเซีย (653 คน) และอินเดีย (587 คน) จากจำนวนผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าทำงานให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งหมด 8,988 คน ได้มีการส่งกลับประเทศต้นทางไปแล้ว 7,514 คน เหลืออีก 1,474 คน อยู่ระหว่างรอการส่งกลับ

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2568 พล.ต.อ. ธัชชัย พร้อมด้วย พล.ต.ต. อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท. ได้เดินทางไปประเทศอินเดียเพื่อหารือประเด็นการต่อต้านการค้ามนุษย์ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยจำนวนมาก และคาดว่ายังมีชาวอินเดียอีกไม่น้อยที่ยังคงทำงานให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว

 

จากการหารือกับสำนักงานตำรวจข่าวกรอง (Intelligence Bureau) และศูนย์ประสานงานอาชญากรรมไซเบอร์แห่งชาติอินเดีย (Indian Cyber Crime Coordination Centre) พบว่า อินเดียมีสถิติการรับแจ้งความคดีคอลเซ็นเตอร์เฉลี่ยสูงถึงวันละประมาณ 7,000 คดี ขณะที่ประเทศไทยมีประมาณ 800 คดีต่อวัน โดยคดีที่พบบ่อยที่สุดในทั้งสองประเทศคือการหลอกให้ลงทุน (Investment Scam) มูลค่าความเสียหายรวมเฉพาะที่เกิดกับพลเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตามข้อมูลอินเดีย) ในปี 2567 สูงถึงประมาณ 43,000 ล้านบาท 

 

ส่วนประเทศไทยมีความเสียหายเฉลี่ยปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท ศูนย์รับแจ้งความของอินเดียตั้งอยู่ที่กรุงนิวเดลี ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีเจ้าหน้าที่จากตำรวจ ธนาคาร และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ร่วมปฏิบัติงาน

 

สำหรับคนอินเดียที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ไปทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มักถูกหลอกผ่านเพจรับสมัครงานปลอม โดยอ้างว่าจะจ้างมาทำงานในประเทศไทยพร้อมออกค่าเดินทางให้ เมื่อถึงไทยจะถูกลักลอบพาข้ามแดนไปยังเมียวดี หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษในเมียนมา หรือถูกพาจากสนามบินไปข้ามแดนทำงานในกัมพูชา (ปอยเปต พนมเปญ สีหนุวิลล์ บาเวต) หรือ สปป.ลาว (เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ) คนกลุ่มนี้จะถูกบังคับให้หลอกลวงคนในประเทศอินเดียด้วยกันเอง โดยพบว่ามีการใช้บัญชีธนาคารและเครือข่ายโทรศัพท์ของไทยในการก่อเหตุ

 

ทางศูนย์ไซเบอร์อินเดียยังได้นำเสนอคดี Digital Arrest หรือการปลอมเป็นตำรวจอินเดียวิดีโอคอลข่มขู่เหยื่อเพื่อรีดไถทรัพย์สิน ซึ่งคล้ายกับกรณีร้อยเวรปอยเปตในประเทศไทย

 

พล.ต.อ. ธัชชัย กล่าวว่า การเยือนอินเดียครั้งนี้ทำให้เห็นว่าปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีลักษณะคล้ายคลึงกันและน่าจะมีความเชื่อมโยงกันในหลายประเทศ ทั้งนี้ ทางการอินเดียได้ชื่นชมมาตรการของรัฐบาลไทยที่สั่งตัดสาธารณูปโภคในพื้นที่เมืองเมียวดีและเขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมา ซึ่งส่งผลให้การกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีประสิทธิภาพอย่างมาก ช่วยเหลือประชาชนกว่า 36 ประเทศ และทำให้สถิติการถูกหลอกลวงในอินเดียลดลงอย่างเห็นได้ชัด

 

ในอนาคตตำรวจไทยและอินเดียจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและจริงจังในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งสองประเทศต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising