×

เจาะปม หนี้ครัวเรือนไทยหดเหลือ 89.6% ต่อ GDP หลังแบงก์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ-ความสามารถในการกู้ยืมของคนไทยต่ำลง

01.10.2024
  • LOADING...
หนี้ครัวเรือน

แบงก์ชาติเผย หนี้ครัวเรือนไทยลดเหลือ 89.6% ต่อ GDP ในไตรมาสที่ 2 นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบราว 4 ปี เหตุผลสำคัญมาจากการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัวหนักของสถาบันการเงิน และความสามารถในการกู้ยืมเงินของคนไทยต่ำลง 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยหนี้สินครัวเรือนไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 อยู่ที่ 16.32 ล้านล้านบาท ลดลงจาก 16.36 ล้านล้านบาทในไตรมาสแรก หรือคิดเป็น 89.6% ต่อ GDP จากระดับ 90.7% ต่อ GDP ในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยอัตราส่วนดังกล่าวนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบราว 4 ปี หรือตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563

 

เปิดเหตุผล ทำไมหนี้ครัวเรือนไทยต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี

 

ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่าเป็นผลมาจากสินเชื่อโตต่ำ โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย (Retail) เนื่องมาจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ความสามารถในการกู้ยืมของลูกหนี้ต่ำลง สถาบันการเงิน ทั้งธนาคารและไม่ใช่ธนาคาร (Non Bank) ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังมากขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ทั่วถึง

 

นอกจากนี้ “เมื่อเงินให้กู้ยืมลดลง แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) กลับขยายตัว จึงทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ชะลอตัวลง” ธัญญลักษณ์กล่าว

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลจาก ธปท. แสดงให้เห็นว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 2 ปี 2567 ขยายตัวเพียง 0.3% เท่านั้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ GDP ไทยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 2.3%

 

อย่างไรก็ตาม ธัญญลักษณ์ย้ำว่า ระดับตัวเลขดังกล่าวยังถือว่า ‘สูง’ และยังไกลจากระดับ 80% ต่อ GDP ซึ่งเป็นระดับที่ ธปท. และธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) มองว่าเป็นระดับที่ไม่กระทบเศรษฐกิจและการบริโภค

 

‘อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังสูง’ มีผลทำให้หนี้ครัวเรือน ‘ลดลง’ หรือไม่

 

ธัญญลักษณ์ยืนยันว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ลดลงเป็นผลมาจาก ‘ความสามารถในการกู้ยืมของลูกหนี้ที่ต่ำลง’ มากกว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.5% เนื่องจากสินเชื่อรายย่อย (Retail) หลายประเภท ได้แก่ รถ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนใหญ่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ขณะที่บ้านอาจมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ในปีแรกๆ 

 

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ ‘คง’ ดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี หรือตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556

 

ธัญญลักษณ์ยังมองว่า ในทางกลับกัน หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็อาจช่วยทำให้ลูกหนี้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้นได้ แต่ไม่ได้เยอะ

 

นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่น่าทำให้ความต้องการ (Demand) ในการกู้ยืมเพิ่มได้ หรืออาจเพิ่มน้อยมาก โดยธัญญลักษณ์ระบุว่า “ดอกเบี้ยไม่ได้มีผลโดยตรง และไม่มีน้ำหนักเท่ากับว่า เขา (ลูกหนี้) จะจ่ายหนี้ไหวหรือไม่”

 

สินเชื่อไม่โตจะสะท้อนคนไทยไม่มีสภาพคล่องแล้ว?

 

สำหรับสถานการณ์สภาพคล่องของคนไทย ธัญญลักษณ์มองว่า ผู้คนระดับรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ สภาพคล่องค่อนข้าง ‘ตึง’ อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนรายได้ปานกลางถึงสูงยังคงมีรายได้และเงินออมสูงอยู่ ขณะที่สัดส่วนการก่อหนี้ต่อรายได้ก็ไม่ได้เยอะมาก ดังนั้น เทรนด์การก่อหนี้หลังจากนี้จึงจะเห็นว่าเป็นการก่อหนี้ในกลุ่มคนที่มีความสามารถในการชำระหนี้ 

 

เปิดแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทย ณ สิ้นปี 2567

 

ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไทยจะอยู่ที่ระดับ 90.7% ต่อ GDP อย่างไรก็ตาม ธัญญลักษณ์กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเตรียมจะปรับประมาณการอีกครั้ง โดยคาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะลดลงต่ำกว่าประมาณการปัจจุบัน

 

ขณะที่สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งหมด 17 แห่ง ณ สิ้นปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้ไม่ถึง 1.5% เท่านั้น โดยปัจจัยหลักที่ฉุดมาจากสินเชื่อรายย่อย (Retail) ขณะที่สินเชื่อธุรกิจยังคงไปได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X