×

สภาพัฒน์เผยหนี้ครัวเรือนไทยติดอันดับ 10 ของโลก อันดับ 3 เอเชีย เหตุเร่งซื้อบ้านและรถรุ่นใหม่

โดย THE STANDARD TEAM
07.06.2019
  • LOADING...

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2562 ซึ่งมีประเด็นที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะหนี้สินครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2561 หนี้สินครัวเรือนเท่ากับ 12.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% และคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP เท่ากับ 78.6% เพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน

 

และเมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในอันดับที่ 10 จาก 89 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3 จาก 29 ประเทศในเอเชีย

 

สำหรับไตรมาส 1 ปี 2562 หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัว 10.1% สูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2557 เป็นต้นมา

 

ซึ่งเป็นผลจากการเร่งก่อหนี้ก่อนการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (LTV) เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

 

และความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากคุณสมบัติของรถรุ่นใหม่ และมาตรการส่งเสริมการขายรถยนต์จากงานมหกรรมยานยนต์ (Motor Show 2019) รวมถึงการส่งเสริมการขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และเงื่อนไขการผ่อนชำระที่จูงใจ

 

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อโดยรวมยังคงทรงตัว แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยในไตรมาส 1 ปี 2562 หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ขยายตัว 9% เทียบกับ 9.1% ในไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วน 2.75% ต่อสินเชื่อรวม และสัดส่วน 27.8% ต่อ NPLs รวม ซึ่งสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2559 เป็นต้นมา และส่งผลให้มีสัดส่วนสูงสุดเมื่อเทียบกับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในประเภทธุรกิจอื่นๆ ด้านสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับยังคงมีมูลค่ารวมอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ยอดสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตปรับตัวลดลง 3.6% เทียบกับการขยายตัว 0.3% ในไตรมาสที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม หนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 2561 และภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีที่แล้วอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ทำให้มีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่

1. การก่อหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนภายหลังการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่ โดยคาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง และทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว เนื่องจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วนประมาณ 49.9% ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล

2. การขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ รวมถึงบัตรเครดิตอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

 

นอกจากนี้ภาครัฐยังควรให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อกำกับดูแลและควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้รัดกุมและมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น อาทิ การออกแบบมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR)

 

การออกมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากคุณภาพของสินเชื่อรถยนต์ที่มีแนวโน้มลดลง

 

การติดตามมาตรการกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อที่มีรถยนต์เป็นหลักประกันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรมและมีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม

 

การเร่งประชาสัมพันธ์โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 2

 

และการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้รายเดิมและรายใหม่ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการก่อหนี้ครัวเรือนมากยิ่งขึ้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X