×

ทำไมไทยยังเผชิญ ‘ค่าไฟแพง’ ปัญหาอยู่ตรงไหน?

06.09.2024
  • LOADING...
ค่าไฟ

กระทรวงพลังงานตอบปม ‘ ค่าไฟ แพง’ ทำไมอัตรายังสูงกว่าเพื่อนบ้าน ชี้บางประเทศใช้ถ่านหินและไฟฟ้าพลังน้ำเยอะ จึงทำให้อัตราค่าไฟถูกกว่าไทย พร้อมย้ำแผน PDP 2024 ยังไม่มีการพิจารณาผลิตไฟเพิ่มเกือบ 20,000 MW ปัดเอื้อทุนผูกขาด-กฟผ. ไม่ถูกบอนไซ  

 

วันนี้ (6 กันยายน) วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์จากเวทีเสวนา ‘สาเหตุไฟฟ้าแพง ประชาชนเดือดร้อนเพราะใคร?’ โดยชี้แจง ดังนี้ 

 

ประเด็น ค่าไฟ แพงจากสัญญาที่รัฐเอื้อให้กับเอกชน ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าน้อยลงนั้น นโยบายกระทรวงพลังงานในด้านหนึ่งคือ ส่งเสริมให้เอกชนมีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า เพื่อเพิ่มการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพ และทำให้ประชาชนมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม โดยโครงสร้างค่าไฟฟ้าในเรื่องสัดส่วนความเป็นเจ้าของใน กฟผ. ไม่ได้ส่งผลทำให้ ค่าไฟ สูงขึ้นหรือต่ำลง เพราะเงินลงทุนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีในขณะนั้นที่อาจจัดหา

 

โดย กฟผ. หรือเอกชน หากจัดหาโดย กฟผ. ก็จะส่งผ่านต้นทุนผ่านมูลค่าการลงทุนและค่าดำเนินการโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ถ้าจัดหาโดยเอกชนก็จะส่งผ่านต้นทุนผ่านค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) 

 

ขณะที่ต้นทุนเชื้อเพลิงก็มีการควบคุมต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าตามลำดับ (Merit Order) เช่น เมื่อมีความต้องการไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจะเริ่มจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำที่สุดเป็นลำดับแรก ซึ่งจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานทั้งอัตราค่าบริการและคุณภาพการบริการ ส่งเสริมการแข่งขัน และป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบ 

 

โดย กกพ. มีระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณา กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตและผู้ประกอบกิจการพลังงานต้องไม่กระทำการหรือมีพฤติกรรมลักษณะผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในการปฏิบัติอยู่แล้ว

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ขณะที่ประเด็นคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงเกินความจำเป็น ทำให้ต้องพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิล ต้องนำเข้าก๊าซ LNG ที่ราคาผันผวนมากเกินไป อีกทั้งไม่บริหารต่อสัญญาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อนเก่า แต่กลับสร้างเขื่อนใหม่ เป็นต้นเหตุหนึ่งของค่าไฟแพง 

 

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานขอชี้แจงว่า การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าใช้ค่าพยากรณ์จากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ระยะยาว ที่จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งข้อวิจารณ์ที่ระบุว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันนั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถพิจารณาจากสถานการณ์ระยะสั้นเพียงปีเดียวได้ 

 

อีกทั้งประเทศไทยยังมีประชากรแฝงจำนวนมาก การพยากรณ์จึงอาจมีความคลาดเคลื่อนมากกว่าหรือน้อยกว่า GDP ระยะยาว และทาง สศช. เองก็เห็นว่าภาพรวมประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนแปลง ค่าพยากรณ์ GDP ระยะยาวสามารถใช้คาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ได้ และที่ผ่านมาได้กำหนดระดับการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin) ที่เหมาะสมไม่ต่ำกว่า 15% ร่วมกับการใช้เกณฑ์ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation: LOLE) ไม่เกิน 1 วันต่อปี ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

 

ในแผน PDP ใหม่จึงจะใช้เกณฑ์ LOLE ไม่เกิน 0.7 วันต่อปี โดยคำนึงถึงความมั่นคงระบบไฟฟ้าและการประเมินมูลค่าความเสียหายเนื่องจากไฟฟ้าดับ

 

ยืนยันร่างแผน PDP 2024 เน้นหลักการความมั่นคงของระบบไฟฟ้า 

 

สำหรับประเด็นที่กล่าวถึงการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากไป ทำให้ต้องนำเข้า LNG ที่ราคาผันผวนนั้น ในการจัดทำร่างแผน PDP 2024 เน้นหลักการความมั่นคงระบบไฟฟ้า ต้นทุนค่าไฟที่เหมาะสม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยแผนจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดมากกว่า 50% จะนำเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ๆ มาเป็นทางเลือกในแผน 

 

โดยจะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในโรงไฟฟ้าหลักลง และผสมไฮโดรเจนและก๊าซเพื่อช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) พร้อมกับใช้พลังงานหมุนเวียนทุกประเภทอย่างเต็มศักยภาพ เพิ่มทางเลือก เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก และเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ฯลฯ

 

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นประเทศยังจำเป็นต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าหลักจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่ กฟผ. สามารถสั่งการเดินเครื่องเพื่อช่วยรักษาความมั่นคงของระบบเอาไว้ แต่ PDP ฉบับใหม่จะลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติลง คาดว่าปลายแผนคือปี 2580 จะพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 41% จากปัจจุบันแผนเดิมพึ่งพาระดับ 53%

 

แจงยิบ! ปมโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่จะหมดอายุ

 

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่จะหมดอายุ ภาครัฐสามารถเจรจาได้หากเห็นว่าการต่ออายุสัญญาเป็นประโยชน์ ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำใหม่เป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดหาเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน เป็นการกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และการรับซื้อพลังงานสะอาดยังช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) 

 

โดยที่แผนการรับซื้อต้องทำล่วงหน้า เพราะโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงการอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำจะช่วยสร้างเสถียรภาพด้านค่าไฟ เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าจะคงที่ตลอดอายุสัญญา

 

ชี้บางประเทศใช้ถ่านหินและไฟฟ้าพลังน้ำเยอะ จึงทำให้อัตราค่าไฟถูกกว่าไทย

 

นอกจากนี้ประเด็นที่ค่าไฟประเทศไทยแพง ทำให้เกิดผลกระทบต่อเงินเฟ้อ เกิดการย้ายฐานการลงทุนไปที่อื่นนั้น หากพิจารณาค่าไฟเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทอุตสาหกรรมพบว่า อัตราค่าไฟฟ้าของไทยถือว่าอยู่ในระดับกลางของกลุ่มอาเซียน แต่ทั้งนี้ การพิจารณาเปรียบเทียบอัตราค่าไฟฟ้าจะต้องดูบริบทของอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศนั้นๆ ด้วย เช่น สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่ต่างกัน โดยบางประเทศมีการใช้ถ่านหินและไฟฟ้าพลังน้ำเยอะ จึงทำให้อัตราค่าไฟถูก

 

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยหลักมาจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่เป็นปัจจัยนอกเหนือการควบคุม แต่ภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้บรรเทาภาระค่าไฟที่เกิดขึ้น ทั้งการเร่งจัดหาเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ราคาปรับตัวลง กำกับติดตามการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้เป็นไปตามแผน จัดหาก๊าซจากตลาดจร (Spot LNG) ที่มีราคาต่ำ และจัดทำสัญญาระยะยาว พร้อมกับเปลี่ยนวิธีการคำนวณ Pool Gas จากเดิมคิดจากปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่มีราคาถูกเฉพาะส่วนที่ออกจากโรงแยกก๊าซ มารวมกับปริมาณก๊าซจากแหล่งอื่นๆ ที่มีราคาสูงกว่า 

 

โดยเปลี่ยนเป็นการนำปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยทั้งหมดก่อนเข้าโรงแยกก๊าซมารวมกับก๊าซจากแหล่งอื่นก่อน แล้วจึงคำนวณราคา ทำให้ราคา Pool Gas ลดลง ช่วยลดต้นทุนค่าไฟลง 

 

นอกจากนี้ยังจัดหาไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำเข้ามาเติม เช่น การเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงแม่เมาะ การนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ปลดระวางไปแล้วกลับมาผลิตใหม่ หรือการรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ฯลฯ

 

“กระทรวงพลังงานยืนยันว่า การลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ โดยเอกชน ไม่ได้ทำให้หน่วยงานของรัฐคือ กฟผ. ถูกยึดโดยกลุ่มทุนพลังงาน ปัจจุบันรัฐยังคงถือหุ้นใน กฟผ. ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ และไม่มีเจตนาจะแปรรูปกิจการ กฟผ. ให้เป็นของเอกชน”

 

โดยโรงไฟฟ้าหรือระบบส่งที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ กฟผ. ก็ยังคงอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ กฟผ. และแผน PDP ฉบับใหม่ก็ไม่ได้ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดลงแต่อย่างใด นอกจากนั้นการคิดคำนวณค่าไฟ การจัดหาเชื้อเพลิง ก็ยังมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ค่าไฟมีราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย” วีรพัฒน์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X