×

‘กนง.-กนส.’ ชี้ภาคการเงินไทยแกร่ง แต่ห่วงความเสี่ยงโควิด-19 ระลอกสอง ฉุดความสามารถชำระหนี้ภาคครัวเรือน-เอสเอ็มอี

โดย THE STANDARD TEAM
14.12.2020
  • LOADING...
‘กนง.-กนส.’ ชี้ภาคการเงินไทยแกร่ง แต่ห่วงความเสี่ยงโควิด-19 ระลอกสอง ฉุดความสามารถชำระหนี้ภาคครัวเรือน-เอสเอ็มอี

‘แบงก์ชาติ’ เปิดผลประชุมร่วม ‘กนง.-กนส.’ ระบุภาคการเงินไทยมีเสถียรภาพดี แต่ยังห่วงความไม่แน่นอนจากความเสี่ยงการระบาดระลอกสองของโควิด-19 หวั่นกระทบความสามารถชำระหนี้ภาคครัวเรือน-เอสเอ็มอี ย้ำการช่วยเหลือต้องตรงจุด เน้นการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก พร้อมหนุนตั้งกองทุนรวมลงทุนในไฮยิลด์บอนด์ 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมกันระหว่าง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ซึ่งประชุมร่วมกันไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 โดยที่ประชุมเห็นว่าระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) และธุรกิจประกันภัยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง ขณะที่ตลาดการเงินมีเสถียรภาพและสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ 

 

อย่างไรก็ดี ภายใต้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แม้จะดีกว่าคาด แต่ยังต้องใช้เวลาและมีความไม่แน่นอน ทั้งความเสี่ยงจากการระบาดของโควิค-19 ในประเทศระลอกสอง การเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในปี 2564 และความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยบางด้านมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นสวนทางกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น โดยมีความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs เป็นจุดเปราะบางสำคัญ ซึ่งอาจส่งผ่านความเสี่ยงไปยังภาคส่วนอื่นในระบบการเงินได้ อาทิ คุณภาพสินเชื่อของระบบสถาบันการเงิน (สง.) และความเสี่ยงจากการต่ออายุตราสารหนี้ (Rollover Risk) ในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ด้วยมาตรการที่ตรงจุดและทันการณ์ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้าน และให้น้ำหนักกับการดูแลความเสี่ยงใน 2 ประเด็นหลัก ดังนี้

 

  1. การช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนอย่างตรงจุดและทันการณ์ เพื่อจำกัดผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน 

ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจการได้ แต่มีระดับการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันในแต่ละกลุ่ม (Uneven Recovery) มาตรการช่วยเหลือทั้งมาตรการเชิงโครงสร้าง มาตรการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ และมาตรการทางการเงิน ควรมุ่งเน้นช่วยเหลือให้เหมาะสมกับลักษณะของปัญหา และศักยภาพของธุรกิจแต่ละกลุ่ม กล่าวคือ 

 

(1) ธุรกิจที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว ควรมุ่งเน้นมาตรการด้านการให้สินเชื่อใหม่เพื่อเสริมสภาพคล่อง และการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก 

 

(2) ธุรกิจที่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว แต่มีข้อจำกัดเรื่องภาระหนี้เดิมสูง ควรมุ่งเน้นการสนับสนุนเงินทุน โดยอาศัยกลไกสินเชื่อหรือกลไกแปลงหนี้เป็นทุนเพื่อปรับปรุงกิจการ และการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก 

 

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างหารือหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และ (3) ธุรกิจที่ประสบปัญหาขาดความสามารถในการแข่งขันมาระยะหนึ่งแล้ว ควรเน้นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างผ่านการลดกำลังการผลิตส่วนเกิน (Excess Capacity) และสนับสนุนการปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป


ด้านภาคครัวเรือน มาตรการช่วยลดภาระการชำระหนี้ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพักชำระหนี้หรือลดค่างวดชั่วคราว สามารถเข้าถึงลูกหนี้รายย่อยได้จำนวนมาก แต่ยังมีลูกหนี้จำนวนหนึ่งที่จำเป็นต้องเร่งช่วยเหลือเพิ่มเติมผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ 

 

โดยในปัจจุบัน ธปท. มุ่งเน้นให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับลักษณะปัญหาของลูกหนี้รายย่อยแต่ละกลุ่ม โดยให้ลูกหนี้แสดงเจตจำนง (Opt-in) กับสถาบันการเงิน แทนการช่วยเหลือเป็นวงกว้าง รวมทั้งเร่งผลักดันการปรับโครงสร้างหนี้อย่างครบวงจรแก่ลูกหนี้รายย่อยให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ในระยะยาว 

 

ทั้งนี้ มาตรการช่วยลดภาระการชำระหนี้ดังกล่าวควรดำเนินการควบคู่กับมาตรการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย อาทิ มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน และมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐที่มีการดำเนินการต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เช่น การปรับลดอัตราเบี้ยประกันภัย และการขยายระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัย

 

  1. การดูแลเสถียรภาพของภาคการเงิน และจำกัดการส่งผ่านความเสี่ยง (Spillover) จากตลาดการเงินไปสู่ภาคส่วนอื่นในระบบการเงิน มาตรการดูแลเสถียรภาพตลาดการเงินที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งการจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) และกลไกช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน (Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF) ได้ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน และช่วยให้กลไกตลาดการเงินกลับมาทำงานได้ตามปกติ แม้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (Credit Spread) ของตราสารหนี้กลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ BBB ลงมา และกลุ่มที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated) ที่เร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีจะยังไม่ปรับลดลง ซึ่งสะท้อนถึงความไม่มั่นใจของนักลงทุนในตราสารกลุ่มดังกล่าว รวมถึงมีความเสี่ยงด้าน Rollover Risk ของตราสารหนี้กลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับต่ำกว่าลงทุนได้ (Non-investment grade) และกลุ่ม Unrated ที่ส่วนใหญ่ออกโดยธุรกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ประเมินว่าจะไม่นำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic Risk) 

 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ตลอดจนภาวะตลาดทุนยังอาจมีความผันผวนอยู่บ้าง จึงจำเป็นต้องคง BSF และ MFLF ไว้เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในอนาคต รวมถึงเตรียมแนวทางเพื่อดูแลความเสี่ยงที่ไม่ได้ถูกรองรับโดย BSF เช่น การสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับลงทุนได้ (High-yield bond fund) เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน 

 

สำหรับระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ยังมีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for yield) สะท้อนจากการนำสภาพคล่องส่วนเกินไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ภาคเอกชนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องยกระดับเกณฑ์กำกับดูแลอย่างมีประสิทธิผล อาทิ การกำหนดเพดานการลงทุนในหลักทรัพย์

 

นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลได้ดำเนินมาตรการในหลายด้านเพื่อรักษากันชน (Buffer) ของภาคการเงินให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้น และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป อาทิ 

 

(1) ธปท. กำหนดให้สถาบันการเงินสามารถจ่ายเงินปันผลได้ไม่เกินอัตราที่กำหนด ห้ามสถาบันการเงินซื้อหุ้นหรือซื้อคืนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนได้ก่อนครบกำหนด และทบทวนคุณสมบัติตราสารที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนที่เคยเข้มกว่าให้กลับมาเทียบเท่ากับเกณฑ์สากล ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินรักษาระดับเงินกองทุนให้เพียงพอรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น และพร้อมเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

 

(2) ก.ล.ต. อยู่ระหว่างปรับปรุงเกณฑ์เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มีเครื่องมือที่หลากหลายมากขึ้นในการบริหารจัดการสภาพคล่องตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และ 

 

(3) คปภ. ได้จัดทำแนวปฏิบัติในการยื่นขออนุญาตการออกตราสารด้อยสิทธิของบริษัทประกันชีวิตและวินาศภัยเพื่อนับเป็นเงินกองทุน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและสภาพคล่องของบริษัทประกันภัย รวมทั้งได้กำหนดแนวทางในการกำกับดูแลให้บริษัทประกันภัยรักษาความมั่นคงปลอดภัยในด้านเทคโนโลยีและภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นความเสี่ยงใหม่ที่เพิ่มขึ้น

 

ในภาวะที่สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจการเงินยังมีความไม่แน่นอน หน่วยงานกำกับดูแลทั้ง ธปท. ก.ล.ต. และ คปภ. จะร่วมกันประเมินความเสี่ยงต่างๆ ติดตามความเพียงพอและประสิทธิผลของมาตรการที่ดำเนินการไปแล้วอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเตรียมพร้อมออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมหากจำเป็น เพื่อจำกัดผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทย และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และปรับแนวทางการกำกับดูแลร่วมกันให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising