ภูมิธรรมยืนยัน สั่งศึกษาเท่านั้น ยังไม่มีมติ ครม. ให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ซื้อคอนโดได้ถึง 75% และถือครองได้นาน 99 ปี ด้านอนุทินยืนยัน ไม่เอื้อกลุ่มทุนบริษัทเชื่อมโยงรัฐบาล ขอมองบวก ประชาชนได้ประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ
วันนี้ (21 มิถุนายน) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาระบุถึงคำสั่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีตนเองเป็นประธานการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน สั่งกระทรวงมหาดไทยแก้กฎหมายช่วยอสังหาริมทรัพย์ ให้ต่างชาติซื้อคอนโดได้ 75% และถือครองได้ 99 ปี ว่า ในฐานะที่ตนเป็นประธานประชุม ครม. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 เมษายน ซึ่งมีมติที่กระทรวงการคลังเสนอให้ ครม. พิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นแพ็กเกจที่มีประมาณ 10 ประเด็น ซึ่งเป็นการรวบรวมความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ประชาชน รวมทั้งภาคเอกชน และมี 2 เรื่องที่ค้างอยู่ให้ไปศึกษาความเป็นไปได้ ได้แก่
- การพิจารณาทบทวนการกำหนดระยะเวลาของทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้ทรัพย์อิงสิทธิมีกำหนดเวลาได้ไม่เกิน 99 ปี
- การพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวกับการให้สิทธิคนต่างด้าวสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ในห้องชุดจากเดิม 49% เป็นไม่เกิน 75% จึงเป็นข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยไปศึกษาเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา และเร่งรัดในการดำเนินการและศึกษาความเป็นไปได้
ดังนั้นการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน เป็นการมารับทราบความคืบหน้า ไม่ได้มีการจัดการใดๆ ก่อนที่จะนำข้อเสนอว่ามีความเหมาะสมหรือไม่มาเสนอต่อ ครม.
ทั้งนี้ ภูมิธรรมกล่าวว่า การกำหนดเกณฑ์สัดส่วนการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติตอนนี้ยังไม่มีเกณฑ์ แต่มีข้อเสนอมาที่ต้องไปรับฟัง ส่วนไหนทำได้ก็ทำไป แต่ 2 ข้อนี้ยังต้องศึกษาความเป็นไปได้ ไม่ได้มีการอนุมัติแต่อย่างใด ยืนยันว่าการประชุม ครม. ในวันนั้นแค่มาตามเรื่องผลการศึกษาว่ามีความคืบหน้าอย่างไร จึงขอให้ช่วยดูรายละเอียดและสรุปเข้ามารายงานในที่ประชุม ครม. อีกครั้ง และไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาว่าจะต้องได้ข้อสรุปเมื่อไร แต่ก็ให้ทำโดยเร็ว เพราะก่อนหน้านี้ใช้เวลาไปนานแล้ว แต่หากผลสรุประบุว่าได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่หากไม่ได้ข้อสรุปก็ยังไม่ได้มีการตัดสินใจ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยรับหน้าที่ไปศึกษา โดยจะต้องไปดูว่าสิ่งไหนเป็นประโยชน์หรือติดปัญหา
ส่วนที่มีความกังวลว่าจะนำเรื่องนี้ไปโยงกับทางการเมือง ภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่กังวลเรื่องนี้ เพราะเป็นการสั่งให้ไปศึกษา เนื่องจากเป็นข้อเสนอของประชาชนและผู้ประกอบการ ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยก็ดำเนินการเป็นมติ ครม. ออกไป แต่ถ้ายังไม่แน่ใจก็ต้องไปศึกษา เพราะอาจมีปัญหาที่เกิดขึ้น จึงอยู่ในขั้นตอนศึกษา
ขณะเดียวกันจะนำแนวทางการศึกษาจากรัฐบาลที่ผ่านมาพิจารณาด้วยหรือไม่ ภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่นำข้อเสนอเก่ามาปรับปรุง เมื่อศึกษาแล้วไม่ได้ก็ไม่ออกเป็นมาตรการ ดังนั้นเวลานี้รัฐบาลได้ดำเนินการไปถึง 18 มาตรการ และไม่ได้มีปัญหาใดๆ ทั้งนี้ รัฐบาลเห็นว่าน่าจะมีปัญหา ไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่ จึงต้องไปศึกษา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลที่ผ่านมาเคยตีตกเรื่องนี้ไปแล้ว จะนำมาเป็นบทเรียนกับรัฐบาลนี้หรือไม่ ภูมิธรรมกล่าวว่า รัฐบาลนี้ยังมีเรื่องให้ทำอีกเยอะ เมื่อเป็นการศึกษาก็ถือว่ารัฐบาลนี้ได้ทำแล้ว ส่วนผู้ศึกษาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นสิทธิทำได้ทั้งหมด
ส่วนจะเป็นการเอื้อให้กับเอกชนบางรายหรือไม่ ภูมิธรรมกล่าวว่า ถ้าเอื้อเอกชนตนเองก็ตัดสินใจไปแล้วว่าให้ทำได้ แต่ตอนนี้ยังเป็นการศึกษาว่าทำได้จริงหรือไม่และเป็นธรรมหรือไม่ ดังนั้นจะมาพูดว่าเอื้อหรือไม่เอื้อไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆ และการที่มีการเสนอมาตรการนี้มาก็ถือว่าเป็นการฟังเสียงผู้ประกอบการ ซึ่งตอนนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่มีการเสนอมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อจำกัดที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลนี้พยายามจะพิจารณาว่าสิ่งไหนทำได้ก็ทำเลย และเมื่อวานนี้ตนได้เจอกับหอการค้าต่างประเทศกว่า 30 คนจากทั่วโลก ไม่ได้มีการพูดคุยถึงมาตรการต่างๆ ในการประกอบธุรกิจและการลงทุน ทั้งมาตรการวีซ่า ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ประกอบการที่จะเสนอมาตรการต่างๆ เมื่อเป็นรัฐบาลก็รับเรื่องมาพิจารณา สิ่งไหนเหมาะสม ถูกต้อง ได้ประโยชน์ และไม่ผิดกฎหมาย ก็ทำเลย แต่สิ่งไหนยังคลางแคลงใจ ไม่สบายใจ หรือไม่แน่ใจ ก็ต้องดูข้อกฎหมาย เมื่อเป็นไปไม่ได้ก็ไม่ทำ ถ้าเป็นไปได้และมีเหตุผล และชี้แจงได้เข้าใจ ครม. ก็จะพิจารณา โดยใช้ดุลพินิจและประโยชน์สูงสุดที่รัฐบาลจะได้รับ
ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีการแก้กฎหมายการถือครองอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุดของต่างด้าวจากเดิม 49% เป็น 75% และการเช่าที่ดินขยายจาก 50 ปีเป็น 99 ปี อนุทินกล่าวว่า มี 2 เรื่องที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการมา โดยเรื่องแรกเป็นการถือครองที่ดินของทรัพย์อิงสิทธิ และเรื่องที่ 2 คือ อัตราส่วนการถือครองคอนโดโดยต่างด้าว หรือเรียกว่า พ.ร.บ.อาคารชุดฉบับแก้ไข ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบข้อสั่งการและสั่งการไปยังกระทรวงมหาดไทย ซึ่งวันนี้เรื่องน่าจะถึงสำนักงานกระทรวงมหาดไทยแล้วยกร่างของกรมที่ดิน ซึ่งเป็นเรื่องที่สืบต่อเนื่องกันมา ไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไร
ส่วนสาระสำคัญของการถือทรัพย์อิงสิทธิเพิ่มจาก 50 ปีเป็น 99 ปี จริงๆ แล้วเหมือนเดิม เนื่องจาก พ.ร.บ.เดิม เช่าได้ 50 ปี และขยายอีกได้ 50 ปี เมื่อเราเป็น 50 ปีแล้วก็ขยายเป็น 99 ปีเลย เพราะเมื่อ 50 ปีแล้วต่ออีก 50 ปี ก็เป็น 100 ปีพอดี เพราะฉะนั้นต้องทำให้เป็นความยั่งยืน เพื่อจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในเรื่องความคุ้มค่าการลงทุน
ขณะที่การถือครองอาคารชุดเพิ่มจาก 49% เป็น 75% แต่การถือครองที่เกินกว่า 49% ขึ้นไปไม่สามารถโหวตตั้งกฎระเบียบได้ แต่การโหวตสิทธิอะไรยังเป็นของคนไทยอยู่ ชาวต่างชาติจะถือครองได้ แต่ไม่สามารถโหวตออกเสียงได้ แต่สิ่งที่จะได้คือขายอาคารชุดได้มากขึ้น จะได้ไม่มีแต่ซัพพลาย แต่มีดีมานด์ด้วย
เมื่อถามว่า กลัวหรือไม่ว่าจะถูกโยงเป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อเอื้อให้กับบริษัทขายอสังหาริมทรัพย์บางรายที่เชื่อมโยงกับรัฐบาล อนุทินกล่าวว่า ก็พูดกันไป ถ้าพูดอย่างนี้ก็โยงได้ทุกเรื่อง แต่เรื่องนี้เป็นการโยงให้ประชาชนมีโอกาสมากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องสิทธิและการถือครองประโยชน์ของคนไทยไม่มีตรงไหนเสียไป มีแต่เรียกเงินเข้ามา โดยหากไปศึกษากฎหมายนี้แบบละเอียด เรามีแต่ได้ ไม่มีอะไรที่เสีย พร้อมระบุว่า ร่างกฎหมายนี้ถูกยกมาตั้งนานแล้ว “เพราะของผมสั่งวันนี้ เสร็จเมื่อวาน”
เมื่อถามย้ำว่า กระทรวงมหาดไทยทำเสร็จตั้งแต่นายกรัฐมนตรีสั่งการใช่หรือไม่ อนุทินพยักหน้ารับ และเมื่อถามต่อถึงเรื่องอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุน อนุทินระบุว่า อย่าไปมองแบบนั้น ขอให้มองว่าเป็นคนไทย ทีเวลาสมัยก่อนมีปัญหาทางเศรษฐกิจก็แก้ไขให้เขา ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำ ในสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งก็มีในเรื่องการปรับอัตราส่วนและเรื่องภาษีต่างๆ เราก็ช่วยกันตามสถานะ ตอนนี้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยไม่ได้มีบริษัทเดียว แต่มีเป็นร้อย ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งนั้น ยิ่งเข้ามายิ่งมีข่าวดี มีโครงการเพิ่มมากขึ้น ขยายความเจริญออกไป ที่ดินก็จะมีราคาสูงขึ้น คนไทยก็ได้ประโยชน์ เจ้าของที่ดินก็จะได้ประโยชน์ มูลค่าตามราคาตลาดจะสูงขึ้น ซึ่งก็คือการเพิ่มความมั่งคั่งของประเทศไทย คิดไปก็มีแต่บวก หากถามว่ามีลบบ้างไหม หาดีๆ มันก็เจอ แต่จุดที่มันเป็นลบเมื่อเทียบกับสิ่งที่เป็นบวกมันต่างกันเยอะ เราก็ไประวังจุดที่เป็นลบ
ส่วนจะนำเข้าที่ประชุม ครม. พิจารณาได้เมื่อใด อนุทินกล่าวว่า ตนต้องลงนามเห็นชอบหลักการก่อน ต้องผ่านความเห็นส่วนราชการอื่นๆ รวมไปถึงความเห็นของประชาชน ซึ่งจะมีขั้นตอน ไม่ใช่ว่าอยากจะทำเองแล้วทำได้ พูดได้อย่างเดียวว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ใครอย่างแน่นอน อันนี้ยืนยันได้เลย เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนและให้กับประเทศไทย