ตั้งแต่ต้นปี 2563 ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยมีสถานการณ์ไม่คาดฝันมากมาย ทั้งปัจจัยการเมือง เหตุการณ์ความรุนแรง ไปจนถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนหันไปหา Safe Haven อย่างทองคำ และทำให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้น โดยในไทยทะลุบาทละ 28,000 บาท และเป็นราคาสูงที่สุดที่เคยมีมา
แต่ราคาทองคำในระดับสูงนี้จะอยู่อีกนานเท่าไร และจะไปต่อได้แค่ไหน
โลกเสี่ยงสูง ฉุดทองคำขาขึ้นทะลุบาทละ 28,000 บาท
ราคาทองคำโลกและในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากต้นปี โดยปัจจัยหลักคือกรณีทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ-จีน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจการค้าทั่วโลกชะลอตัว และธนาคารกลางหลายประเทศอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ
ถ้าดูข้อมูลจากสมาคมค้าทองคำจะเห็นว่าตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ราคาขายทองคำรูปพรรณ (96.5%) ในประเทศไทยทะลุขึ้นมาอยู่ที่บาทละ 28,150 บาท เพิ่มขึ้น 28.24% (หรือราว 6,200 บาท) จากต้นปี วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่อยู่บาทละ 21,950 บาท และในวันถัดมา 23 มิถุนายน 2563 ราคาขายทองแท่ง (96.5%) ก็เพิ่มขึ้นทะลุบาทละ 28,100 บาท เพิ่มขึ้น 31% (หรือ 6,650 บาท) จากวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่อยู่บาทละ 21,450 บาท
ทั้งนี้ ราคาทองคำในไทยปัจจุบัน ( 24 กรกฎาคม) ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ฝั่งทองรูปพรรณขายอยู่ที่บาทละ 28,800 บาท ส่วนทองแท่งขายออกบาทละ 28,200 บาท ถือเป็นราคาทองคำที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ดัชนีราคาทองโลก (Gold Spot) ถือว่าสูงสุดในรอบ 9 ปี โดยระดับสูงสุดอยู่ที่ 1,927 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในช่วงปี 2011
แต่ราคาทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นระดับนี้จะเข้าสู่วงจรขาลงหรือยัง
ผู้สื่อข่าว THE STANDARD สอบถามไปที่ จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ ซึ่งจิตติบอกว่าราคาทองปีนี้ขึ้นมาเยอะแล้ว โดยราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นในระยะนี้มาจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน และปัจจัยการเมืองทั่วโลก
ในระยะต่อไปประเมินว่าราคาทองคำอาจจะปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกหากสถานการณ์ทั่วโลกยังทวีความรุนแรงขึ้น เช่น การเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีนตึงเครียดยิ่งขึ้น หรือโควิด-19 เกิดการระบาดรุนแรง ฯลฯ แต่ราคาทองคำปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับสูง ดังนั้นอาจจะมีนักลงทุนหรือกองทุนต่างๆ ที่ซื้อทองเก็บอาจเทขายเพื่อทำกำไร และส่งผลให้ราคาทองคำลดลงมาเพื่อปรับฐาน ได้
ดังนั้นคำแนะนำถึงผู้ที่ต้องการซื้อทองคำ หากจะลงทุนควรเป็นการเล่นระยะสั้น โดยไม่ตั้งความหวังว่าราคาทองคำอาจจะขึ้นไปถึงบาทละ 30,000 บาท
นอกจากนี้ยังประเมินกรอบแนวต้านราคาทองคำระยะนี้ โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1,875 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และถ้าผ่านแนวต้านนี้ไปอาจจะขยับไปที่ 1,875-1,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด
ขณะที่ ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่ากรอบราคาทองคำ Target High ในเดือนสิงหาคมนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนทั้งปี 2563 คาดว่าจะไม่เกิน 1,930 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ทางโกลเบล็กมีมุมมองว่าราคาทองคำจะเพิ่มขึ้นหากสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงขึ้น หรือธนาคารกลางต่างๆ ออกมาตรการเพิ่มเติม และมีความเสี่ยงที่ราคาทองคำจะปรับตัวลงหากสถานการณ์ต่างๆ มีความชัดเจนมากขึ้น จากสถิติในอดีตที่เมื่อวิกฤตหรือสถานการณ์ผ่านพ้นไป ราคาทองคำจะจบหรือปรับลดลงอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้คาดว่าการปรับฐานแรงอาจทำให้ราคาทองคำลดลงมาอยู่ที่ 1,750-1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แต่ถ้าการแพร่ระบาดโควิด-19 สิ้นสุดลง มีโอกาสที่ราคาทองคำจะปรับฐานแรงลงมาที่ 1,500-1,600 ดอลลาร์สหรัฐต่ออนซ์
สรุป 3 ปัจจัยราคาทองคำที่ต้องจับตา
ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ศูนย์วิจัยทองคำมอง 3 ปัจจัยที่จะกระทบราคาทองคำ ได้แก่
1. การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19
2. สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน
3. สถานการณ์ค่าเงินบาทไทยยังคงอ่อนค่า ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย
นอกจากนี้ยังต้องติดตามมาตรการต่างๆ ของธนาคารโลกที่อาจจะออกมาเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละประเทศ
สุดท้ายนี้ ราคาทองคำในไทยที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์จะอยู่ได้นานแค่ไหนหรือปรับเพิ่มขึ้นต่อ นักลงทุนยังต้องติดตามสถานการณ์ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์