กระทรวงการคลังหั่นประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 3.4% เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาครัฐน่าจะลดลง สำหรับเศรษฐกิจปีหน้าคาดว่าจะโตถึง 3.8% เหตุภาคการท่องเที่ยวจ่อฟื้นตัวต่อเนื่อง และเงินเฟ้อจะคลี่คลายลง อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักอย่างใกล้ชิดด้วย
วันนี้ (28 ตุลาคม) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 3.4% จาก 3.5% ในประมาณการเมื่อเดือนกรกฎาคม เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะลดลง อันมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่แพงขึ้น ประกอบกับคาดการณ์ที่ว่าการบริโภคภาครัฐน่าจะลดลงด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
โดยประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ของ สศค. ถือว่ามองโลกในแง่ดีกว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตเพียง 2.8%
พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.4% ต่อปี เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว
โดยตลอดทั้งปี 2565 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศจำนวน 10.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 8 ล้านคน ส่งผลให้รายได้ของแรงงานและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวสูงขึ้น
ขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ซึ่งเป็นฐานการบริโภคภาคเอกชนที่สำคัญ ในช่วง 9 เดือนแรกขยายตัวในระดับสูงถึง 7.4% ต่อปี ประกอบกับรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศหลายมาตรการ อาทิ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และโครงการคนละครึ่ง ซึ่งได้มีส่วนในการสนับสนุนอุปสงค์ภายในประเทศ และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ถึง 7.9% ต่อปี
สำหรับในปี 2566 กระทรวงการคลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.8% ต่อปี สูงกว่าคาดการณ์ของ IMF ซึ่งอยู่ที่ 3.7% เล็กน้อย เนื่องจากได้แรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และอเมริกา โดยคาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 21.5 ล้านคน ขยายตัวที่ 109% ต่อปี ส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้น และสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.2% ต่อปี
ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ 2.5% ต่อปี รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 3.7% ต่อปี จากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.9% ต่อปี ปรับลดลงตามราคาพลังงาน ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุล 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.1% ของ GDP
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมีทั้งปัจจัยสนับสนุน อาทิ ภาคการท่องเที่ยวที่มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้สูงกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่อาจเข้ามาท่องเที่ยวได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย
สำหรับปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากที่เผชิญกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานและด้านอาหาร และกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก
อ้างอิง: