×

สศช. หั่นกรอบบน GDP ไทยปีนี้จาก 3.5% เหลือ 3.2% หลังความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ส่อกระทบเศรษฐกิจโลก

15.08.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจ

สศช. ปรับลดกรอบบนประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้จาก 3.5% เหลือ 3.2% จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เผย GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 2.5% ตามการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศและท่องเที่ยว

 

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/65 ขยายตัวได้ 2.5% เทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า และขยายตัวได้ 0.7% จากไตรมาสที่ผ่านมา โดยการขยายตัวเป็นผลมาจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 2.4% 

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2 ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของสินค้าและบริการที่มาจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งขยายตัวได้มากถึง 54.3% การอุปโภคและบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น 6.9% และการอุปโภคภาครัฐบาลที่เพิ่มขึ้น 2.4% 

 

ขณะเดียวกัน สศช. ยังได้ปรับประมาณการภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5-3.5% เป็น 2.7-3.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์จะเพิ่มขึ้น 7.9% การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.4% และ 3.1% ตามลําดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 6.3-6.8% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1.6% ของ GDP

 

พร้อมกันนี้ยังคาดว่าจะมีรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 6.6 แสนล้านบาท จากเดิมคาดการณ์ที่ 5.7 แสนล้านบาท ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเข้ามาในประเทศไทยปีนี้ที่ 9.5 ล้านคน

 

“เรายังมองค่ากลางของ GDP ไทยในปีนี้ไว้ใกล้เคียงเดิม แต่สาเหตุหลักที่มีการปรับลดกรอบบนของ GDP จาก 3.5% ลงมาอยู่ที่ 3.2% คือปัจจัยภายนอก เช่น ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก” ดนุชาระบุ

 

เลขา สศช. กล่าวอีกว่า ปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ถือเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นภาวะที่คาดเดาได้ยาก อย่างในกรณีล่าสุดที่เกิดปัญหาความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันขึ้นก็ถือเป็นเรื่องที่ไทยต้องจับตาดู เพราะปัจจุบันไทยนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์จากไต้หวันในสัดส่วนถึง 29% และยังส่งออกสินค้าไปไต้หวันกว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแผงวงจรไฟฟ้า 

 

“เราคงต้องติดตามดูว่าการซ้อมรบของจีน และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่างๆ ของจีนต่อไต้หวันจะกินระยะเวลาแค่ไหน ส่วนความเสี่ยงจากภายนอกอื่นๆ ที่ยังต้องติดตามคือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและแรงของประเทศต่างๆ และแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์” ดนุชากล่าว

 

นอกจากนี้ เลขา สศช. ยังพูดถึง 8 ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2565 ที่ไทยควรให้ความสําคัญ ประกอบด้วย

 

  1. การติดตามและดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ควบคู่ไปกับการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและภาระดอกเบี้ย แบบมุ่งเป้า 

 

  1. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสําคัญกับการบรรเทาผลกระทบแก่เกษตรกรจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและปัญหาต้นทุนการผลิต การเตรียมการและป้องกันปัญหาจากอุทกภัย และการเพิ่มส่วนแบ่งของเกษตรกรในรายได้จากการจําหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้าย 

 

  1. การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อยท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทั้งภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งเตรียมมาตรการเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ 

 

  1. การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดยการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสําคัญไปยังตลาดหลัก และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ 

 

  1. การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง การพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการสนับสนุนอื่นๆ ให้ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวสามารถกลับมาประกอบธุรกิจ 

 

  1. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2562-2564 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเร่งแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธรุกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต

 

  1. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 

 

  1. การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X