จากข่าวคราวของ อีลอน มัสก์ ผู้บริหารระดับสูงและผู้ก่อตั้งบริษัท Tesla ตั้งโพลสอบถามผู้ติดตามในทวิตเตอร์ที่มีอยู่ราว 62.9 ล้านราย และผู้ร่วมตอบโพลส่วนใหญ่หวังให้อีลอน มัสก์ ขายหุ้น 10% ตามที่เขาสอบถาม ซึ่งในการตั้งโพลครั้งนี้ อีลอน มัสก์ให้คำมั่นว่าเขาจะทำตามที่ผลโพลบอก
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หุ้น Tesla ปรับตัวลดลงทันทีที่เปิดการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทั้งในตลาดหุ้น Frankfurt และตลาดหุ้น Nasdaq อย่างไรก็ตาม ราคาที่อ่อนตัวลงมานั้นถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับราคาที่ไต่ระดับปรับขึ้นมาต่อเนื่อง 2 ปี (2563-2564)
THE STANDARD WEALTH สอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารกองทุนในไทย ที่มีสัดส่วนลงทุนหุ้น Tesla ผ่านกองทุนหลัก พบว่าผู้บริหารกองทุนไทยยังคงเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานของ Tesla ส่วนประเด็นการขายหุ้นที่ถือครองอยู่ เพื่อนำเงินสดมาจ่ายภาษีนั้น มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และประเมินว่ากรณีแบบนี้จะเกิดขึ้นกับอีกหลายบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยี
นาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า กรณีที่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินสดไปจ่ายภาษีนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งสามารถทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย แต่สิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้คือวิธีการขายหุ้นของอีลอน มัสก์ ว่าจะใช้วิธีการใด เนื่องจากแต่ละวิธีการก็จะสร้างผลกระทบต่อราคาแตกต่างกันออกไป
ทั้งนี้ ประเมินว่าน่าจะดำเนินการขายแบบบิ๊กล็อตให้กับนักลงทุนสถาบัน และเชื่อว่านักลงทุนสถาบันหลายรายพร้อมเข้าลงทุนเพิ่ม
“บลจ.กสิกรไทย มีการพูดกับผู้จัดการกองทุนหลักที่ลงทุนอยู่ คือ Baillie Gifford Positive Change Fund อยู่เป็นประจำ โดยกองทุนหลักมีมุมมองเชิงบวกต่อปัจจัยพื้นฐานของ Tesla จากผลประกอบการที่เติบโตต่อเนื่อง ยอดการผลิตเป็นไปตามที่บริษัทเคยให้ไกด์ไลน์ไว้ และยังมีการขยายธุรกิจ สร้าง S-Curve ที่อยู่ในกระแสพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นกระแสหลักของโลกในปัจจุบัน”
ทั้งนี้ K-CHANGE-A(A) หรือกองทุนเปิดเค พอสซิทีฟ เชนจ์ หุ้นทุน-A ชนิดสะสมมูลค่า เป็นกองทุนที่มีการลงทุนใน Tesla ผ่านกองทุนหลักคือ Baillie Gifford Positive Change Fund
จับตาผู้บริหารหุ้น ‘เทคฯ สหรัฐฯ’ ขายหุ้นเพื่อจ่ายภาษี
มณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ กล่าวว่า กรณีที่อีลอน มัสก์ขายหุ้นออกมาเพื่อนำเงินสดไปจ่ายภาษีนั้น เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และมองว่าน่าจะมีอีกหลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ที่ขายหุ้นที่ถือครองอยู่ เพื่อผันเป็นเงินสดและนำไปจ่ายภาษี
“สิ่งที่อีลอน มัสก์ทำก็คือการเปลี่ยนความมั่งคั่ง หรือ Wealth เป็นเงินสด และนำไปจ่ายภาษี ซึ่งมองว่าในเร็วๆ นี้เราก็จะได้เห็นผู้บริหาร บจ.อื่นๆ ในสหรัฐฯ ขายหุ้นเพื่อนำเงินไปจ่ายภาษีด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ เนื่องจากราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นมามาก Wealth ของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นก็เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน
เขากล่าวว่า สิ่งที่ผู้จัดการกองทุนติดตามอยู่ก็คือวิธีการขายหุ้นว่าจะใช้วิธีใด ซึ่งอีลอน มัสก์น่าจะมีทางเลือกที่หลากหลาย แต่หากประเมินถึงผลกระทบด้านราคาหุ้นและสภาพคล่องในกระดาน ประเมินว่าน่าจะใช้วิธีขายให้กับนักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายใหญ่ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทได้ด้วย เช่น ดีลเลอร์ที่มีการซื้อรถยนต์จาก Tesla จำนวนมาก และน่าจะเป็นการขายขาดไปเลย
ในส่วนของผลกระทบ มองว่าการแสดงท่าทีที่ชัดเจนเรื่องขายหุ้นนั้น จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อราคาในตลาด เนื่องจากนักลงทุนทั่วไปอาจจะมีความหวั่นไหวตามกระแสข่าว แต่ราคาจะผันผวนไม่นาน เนื่องจากหุ้น Tesla เป็นหุ้นที่นักลงทุนสถาบันจำนวนมากพร้อมเข้าลงทุนอยู่แล้ว
ทั้งนี้ บลจ.วรรณ มีกองทุนที่ลงทุนใน Tesla โดยผ่านกองทุนหลักคือ Baillie Gifford Positive Change Fund จำนวน 2 กองทุน คือ ONE-UGG-RA และ ONE-DISC-RA
มองเทรนด์ Tech-Green Energy อยู่ยาว
มณฑลกล่าวเพิ่มว่า เทรนด์การลงทุนในปี 2565 ยังอยู่ในหุ้นเทคฯ ต่างประเทศไม่ต่างจากปีนี้ เนื่องจากเป็น Mega Trend ของโลก โดยเทรนด์เทคโนโลยีในปีหน้า จะเข้าไปเกี่ยวเนื่องกับเทรนด์พลังงานสะอาด รวมถึงภาคสาธารณูปโภคที่จะนำเทคโนโลยีไปพัฒนาและปรับใช้มากยิ่งขึ้น
สอดคล้องกับมุมมองของนาวิน ที่มองว่าธีมการลงทุนเด่นในปี 2565 จะยังใกล้เคียงกับปีนี้ คือ ธีมเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด รวมถึงธีมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะมาจากการลงทุนของทางภาครัฐของสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ ขณะที่ธีม ESG ก็ยังเป็นธีมการลงทุนะยะยาวของตลาดหุ้นทั่วโลก
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP