ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างหนักตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งมีตัวเลขผู้ติดเชื้อมากกว่า 500 ราย จากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและแพร่ระบาดในหลายจังหวัด
โดยนักลงทุนสถาบันไทยขายหุ้นอย่างหนักในวันที่ 21 ธันวาคม และต่อเนื่องมาในวันที่ 22-23 ธันวาคม ด้วยมูลค่าขายสุทธิ 7,392.93 ล้านบาท 2,559.25 ล้านบาท และ 1,328.95 ล้านบาท ตามลำดับ
THE STANDARD WEALTH จึงสอบถามมุมมองของนักลงทุนสถาบันไทยที่มีต่อตลาดหุ้นไทยหลังจากเห็นแรงขายสุทธิตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก
จารุภัทร ทองลงยา Executive Director กลุ่มจัดการลงทุนตราสารทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สภาวะตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน ในระยะสั้นอาจจะเกิดความผันผวนสูงขึ้นได้จากความกังวลของนักลงทุนต่อการติดเชื้อรอบใหม่ของโรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังไม่นิ่ง รวมทั้งยังมีความไม่ชัดเจนของขอบเขตพื้นที่ของการแพร่กระจาย และอาจมีความรุนแรงขึ้นจนส่งผลให้เกิดการล็อกดาวน์พื้นที่ หรือจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติมของประชาชนในประเทศได้
โดย บลจ. คาดการณ์ว่าหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงมาเกือบ 6% ในวันที่ 21 ธันวาคม 2563 นั้นเป็นการลดลงใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศยุโรปที่เกิดการติดเชื้อรอบใหม่และมีการล็อกดาวน์ตามมาแล้ว ดังนั้นแม้จะยังมีความผันผวนตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังอาจจะเพิ่มขึ้น แต่หุ้นไทยในระดับที่ต่ำกว่า 1,400 จุดถือว่ารับข่าวการติดเชื้อรอบใหม่ไปพอสมควรแล้ว ดังนั้นอาจจะมี Downside ได้อีก แต่ก็จะไม่มากนัก
ในขณะที่มุมมองในระยะยาวยังเป็นมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้น เนื่องจากวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดต่อโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ในต่างประเทศในเร็วนี้ๆ อันจะทำให้ Global Demand ในสินค้าหลายอย่างเริ่มฟื้นตัวได้อย่างจริงจัง ในขณะที่ Global Liquidity ก็จะยังมีอยู่ในระดับสูงไปอีกในปีหน้า ทำให้ Risk/Reward ในการลงทุนในหุ้นยังมีความคุ้มค่า สำหรับประเทศไทยก็คาดว่าจะได้เริ่มใช้วัคซีนในช่วงครึ่งปีหลัง
ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะต้องออกมาประคองอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลบวกให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยค่อยๆ ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 และกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ในปี 2565 ได้
นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมี Fund Flow จากนักลงทุนต่างประเทศที่ขายตลาดไทยไปกว่า 300,000 ล้านบาทในช่วงก่อนกลับเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า Developed Market และมีเสถียรภาพของค่าเงินสูงกว่า
ตลาดหุ้นไทยในปีหน้าจึงมีโอกาสปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยบวกดังกล่าว ดังนั้นจังหวะที่หุ้นไทยปรับตัวลดลงในช่วงนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีในการสะสมหุ้นไทยเพิ่มขึ้น
ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า ถึงแม้ว่าการกลับมาระบาดของโควิด-19 รอบที่สองไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย เนื่องจากเกือบทุกประเทศในโลกก็เผชิญกับการระบาดรอบที่ 2 หรือ 3 แล้ว แต่ยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มเกือบ 700 รายในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีจำนวนมากเกินที่คาด ถึงแม้โดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อของกลุ่มแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งส่งผลกระทบต่อ Sentiment การลงทุนในระยะสั้น
ประกอบกับตลาดได้ปรับตัวขึ้นมาถึง 24% จากปลายเดือนตุลาคมจากผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ และข่าวดีด้านการอนุมัติใช้วัคซีนในประเทศยุโรปและอเมริกา ทำให้อาจเห็นตลาดมีแรงขายทำกำไรหรือปรับพอร์ตลดความเสี่ยงบ้างเป็นปกติ โดยตั้งแต่ต้นปีจะเห็นว่านักลงทุนสถาบันมียอดซื้อสุทธิกว่า 3 หมื่นล้านบาท
สำหรับ บลจ.กสิกรไทย โดยรวมไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนระดับเงินสดที่ถือครอง แต่อาจมีการทำ Switching และเข้าลงทุนเพิ่มในหุ้นบางตัวที่ราคามีการปรับลดลงมาค่อนข้างเยอะและไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบที่สอง
โดยประเมินว่า Downside ของตลาดหุ้นไทยน่าจะค่อนข้างจำกัดในระดับ 1,350-1,400 จุด เนื่องจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ที่เกิดขึ้นในไทยรอบนี้อยู่ในช่วงเวลาที่เริ่มมีการอนุมัติการใช้วัคซีนและคาดว่าสามารถเริ่มใช้ได้จริงในปีหน้า จึงมองว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยน่าจะน้อยกว่าการแพร่ระบาดรอบแรกในเดือนมีนาคม ประกอบกับภาคสาธารณสุขและเอกชนมีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดเพิ่มขึ้น และไม่น่าจะมีการล็อกดาวน์เป็นวงกว้างหากสามารถควบคุมและจำกัดการแพร่ระบาดในจังหวัดพื้นที่เสี่ยงได้
ทั้งนี้เรายังคงมีมุมมองที่เป็นบวกกับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปีหน้า จากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงแนวโน้มการไหลเข้าของกระแสเงินทุนจากต่างชาติในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย รวมถึงตลาดหุ้นไทย ซึ่งนักลงทุนต่างชาติได้ลดน้ำหนักการลงทุนมาต่อเนื่องกว่า 5 ปี โดยมอง Target ดัชนีในปีหน้าที่ประมาณ 1,550-1,600 จุด
ขณะที่ ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า กรณีที่นักลงทุนสถาบันขายหุ้นไทยเมื่อวันที่ 21-22 ธันวาคม ด้วยมูลค่าขายสุทธิรวมกัน 9,952.18 ล้านบาทนั้น ประเมินว่าเป็นแรงขายกองทุนรวม Trigger Fund ซึ่งมีลักษณะการลงทุนแบบกำหนดผลตอบแทน ซึ่งตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะใน 2 เดือนสุดท้ายของปีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างมากแล้ว จึงเกิดขายเพื่อรับรู้กำไรตามแต่เป้าหมายของกองทุน
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่า Trigger Fund ทุกกองจะเทขายเพื่อรับรู้ผลตอบแทนทั้งหมด ต้องดูที่ต้นทุนของกองทุนด้วยว่าอยู่ในระดับเท่าไร บางกองที่เพิ่งจัดตั้งก็อาจจะไม่มีต้นทุนที่ถูกนัก และยังไม่ได้รับผลตอบแทนตามเป้าหมาย กลุ่มนี้ก็ยังไม่ขายออกมา นอกจากนี้มองว่าน่าจะมีกองทุนประเภทอื่นๆ ขายหุ้นออกมาด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากตอนนี้เป็นช่วงปลายปี และต้องการมีการลดสัดส่วนการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากการถือครองสินทรัพย์ข้ามปี
ทั้งนี้มองว่าช่วงนี้เป็นโอกาสดีสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากยังมีแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ในปีหน้า อานิสงส์จากการเริ่มกระจายวัคซีนในหลายๆ ประเทศการฟื้นตัวของเศรษฐทั่วโลก และการเป็นหมุดหมายการเข้าลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า