×

ถอดบทเรียนอุทกภัยแม่สาย สู่การหาคำตอบในการจัดการวิกฤตโลกรวนในโลกร้อนของไทย

26.09.2024
  • LOADING...
อุทกภัย

“ในเมืองนอก ฝรั่งจะสอนกันเสมอเลยว่า ตรงไหนเป็นที่สูงชันแล้วมีไฟป่า เตรียมตัวได้แล้วว่า ถ้าน้ำมาเยอะ เตรียมตัวน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม แล้วฝนจะอยู่ 6-7 ปีเลยนะจนกว่าดินจะปรับตัวได้” 

 

นี่คือหนึ่งในสาเหตุที่ผู้เข้าร่วมเสวนา ‘Dialogue Forum 1 l Year 5 โลกรวนในโลกร้อน: ไต้ฝุ่นยางิ Monsoons และความท้าทายด้านภูมิอากาศในภูมิภาค’ ชี้ให้เห็นตรงกันว่า ไฟป่าคือตัวการส่วนหนึ่งที่ทำให้ดินไม่อุ้มน้ำ และเป็นสาเหตุสำคัญของดินโคลนถล่มในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

 

ปี 2566 ประเทศไทยประสบภาวะน้ำแล้ง ฝนทิ้งช่วง จากปรากฏการณ์เอลนีโญ ท่ามกลางคำเตือนขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญพัฒนาขึ้นในเขตร้อนแปซิฟิกเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ทำให้เกิดแนวโน้มอุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้น รวมถึงสภาพอากาศและภูมิอากาศที่แปรปรวน กระทบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ต่อมาช่วงกลางปี 2567 สถานการณ์เปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงกันข้ามที่เรียกว่า ลานีญา ฝนตกหนัก น้ำท่วมรุนแรงขึ้น พนังกั้นน้ำแตก น้ำเต็มเขื่อน

 

ผศ. ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า นักวิชาการ ระบุว่า จากสถิติพบว่าสถานการณ์มีแนวโน้มที่จะท่วมมากขึ้น และแล้งมากขึ้นในทุกๆ ปี ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความไม่แน่นอน การคาดการณ์ให้แม่นยำทำได้ยาก ต้องอาศัยการอัปเดตข้อมูลถี่ๆ และหากในภาวะปกติไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือ ในยามวิกฤตก็คงยากที่จะจัดการ

 

THE STANDARD ร่วมถอดบทเรียนอุทกภัยแม่สาย สู่การหาคำตอบในการจัดการวิกฤตโลกรวนในโลกร้อนของไทย จากงานเสวนาที่จัดโดย มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ สำนักงานประเทศไทย ร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร, สำนักข่าว Bangkok Tribune ร่วมกับ Decode.plus Thai PBS, SEA-Junction, และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

 

วงเสวนาโลกรวนในโลกร้อน

ภาพ: Bangkok Tribune News 

 

รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหารและที่ปรึกษาด้านการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงภัยพิบัติ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา (FutureTales LAB by MQDC) และผู้เชี่ยวชาญ IPCC เปิดการเสวนา โดยเล่าย้อนถึงสถานการณ์เอลนีโญว่า เราทราบดีว่าอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัด ส่งผลกระทบให้อากาศประเทศไทยเปลี่ยนแปลง เจอปรากฏการณ์ฝนตกหนักสลับกันปีเว้นปี และเทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาระยะไกลได้อย่างแม่นยำ 

 

ช่วงปี 2559 มีสถิติว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อุณหภูมิสูงขึ้น มีสาเหตุจากภาวะโลกร้อน และเอลนีโญที่ต่อไปจะมาถี่ขึ้นแต่อาจไม่รุนแรง

 

ในปี 2567 พบว่า แนวโน้มภาวะโลกร้อนในระยะยาวสูงขึ้น เอเชียเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติมากที่สุดในโลก อันตรายที่เกี่ยวข้องกับน้ำถือเป็นภัยคุกคามอันดับต้นๆ แต่ความร้อนจัดกลับรุนแรงมากขึ้น ธารน้ำแข็งที่กำลังละลายคุกคามความมั่นคงทางน้ำในอนาคต และอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลและความร้อนในมหาสมุทรทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งกว่าจะทราบผลที่ชัดเจนก็ยังต้องใช้เวลาในการศึกษาอีก 5-6 ปี 

 

นอกจากนี้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา อุณหภูมิประเทศไทยเกิน 35 องศาเซลเซียสประมาณ 17 วัน อนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็น 30 วัน ขณะที่ค่าเฉลี่ยหลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไป ฝนรายปีและฝนสูงสุดรายวันก็เปลี่ยนไป จากสถิติย้อนหลัง 100 ปี, 50 ปี และปัจจุบัน จะพบว่าสถานการณ์มีทั้งท่วมหนักและแล้งจัดสลับกันไปในทุกๆ ปี

 

รศ. ดร.เสรี ยังตั้งคำถามด้วยว่า จากสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เราจะอยู่กันอย่างนี้ต่อไปหรือ แล้วสิ่งที่เราต้องทำคืออะไร 

 

รศ. ดร.เสรี อธิบายว่า ในระดับโลกใช้วิธีการ ‘ปรับตัวเอง จัดทำแผนรับมือภัยพิบัติ’ และ ‘ลดปัญหาที่ต้นตอ’ แล้วในประเทศไทยการปฏิบัติจริงทำตามแผนหรือไม่ มีระบบพยากรณ์เตือนภัย การประเมินความเสี่ยง หรือแผนอพยพหนีภัยหรือไม่ 

 

ยอมรับความล้มเหลวเพื่อหาคำตอบ

 

รศ. ดร.เสรี แนะนำว่า สิ่งสำคัญเราจะต้องยอมรับว่าเราล้มเหลว ถึงจะหาคำตอบได้ ซึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุดคือสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมยังเห็นชาวบ้านหนีน้ำท่วมไปอยู่บนหลังคา ทำไมถึงเห็นกู้ภัยเข้าไปในพื้นที่โดยที่ต่างคนต่างเข้าไปไม่มีการรวมศูนย์ ทำให้เกิดช่องว่างในการจัดการ

 

หรืออีกตัวอย่าง สถานการณ์น้ำที่เชียงใหม่ กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่าน้ำจะท่วมเวลา 03.00 น. ท้องถิ่นไม่มีการจัดการอะไร ชาวบ้านถามในโซเชียลจนกระทั่งน้ำมา ท้องถิ่นต้องปรับ ต้องทำให้การสื่อสารแม่นยำขึ้น ข้อมูลจากหลายส่วนเหมือนวนอยู่ในอ่าง ควรถึงเวลาที่นายกฯ จะทุบโต๊ะบูรณาการข้อมูลรวมกันและให้ท้องถิ่นนำข้อมูลนี้ไปจัดการ ท้องถิ่นต้องเข้มแข็งและเป็นหลักเมื่อเกิดเหตุในหลายพื้นที่แล้วส่วนกลางทำงานไม่ไหว

 

ส่วนคณะกรรมการที่ตั้งมาดูแลสถานการณ์น้ำในขณะนี้ รศ. ดร.เสรี เปิดเผยว่า ในชีวิตไม่เคยเจอคณะกรรมการ 50 คน ในต่างประเทศไม่มี เพราะไม่ต้องการให้มาถกเถียงกัน มีแต่จะมาให้ทำหน้าที่ ทำอย่างไรจะหยุดความตื่นตระหนกนี้ได้ 

 

สภาพความเสียหายจากดินโคลนถล่มในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

ภาพ: ฐานิส สุดโต 

 

ถ้ามีไฟป่า ให้เตรียมรับน้ำหลาก

 

ดร.เจน ชาญณรงค์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล และผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กเพจ ‘ฝ่าฝุ่น’ ในฐานะบุคคลที่เคยดูแลเรื่องไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ให้ข้อสังเกตว่า ในมุมส่วนตัวฝนที่ตกลงมาในภาคเหนือมีปริมาณปกติ อาจจะมีบางจุดที่ตกหนัก แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือสภาพดินและเสถียรภาพของดิน เนื่องจากปี 2566 พบว่ามีไฟผลาญพื้นที่ป่าไปกว่า 9 ล้านไร่ โดยเฉพาะในอำเภอแม่สายพบว่ามีค่ามลพิษสูงสุด สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่ไฟไหม้ป่า แต่ไฟนั้นได้เผาดินและสารต่างๆ ที่อยู่ในดิน

 

“ในเมืองนอกฝรั่งจะสอนกันเสมอเลยว่า ตรงไหนเป็นที่สูงชันแล้วมีไฟป่า เตรียมตัวได้แล้วว่า ถ้าน้ำมาเยอะ เตรียมตัวน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม แล้วฝนจะอยู่ 6-7 ปีเลยนะจนกว่าดินจะปรับตัวได้”

 

ดร.เจน ระบุว่า ไฟจะเผาชีวมวลต่างๆ ซึ่งในนั้นจะมีพวกน้ำมันอยู่ สิ่งนี้จะซึมลงไปในดินข้างใต้ และดินก้อนนี้จะเริ่มมีสมบัติที่เราเรียกว่า ผลักน้ำ ไม่ยอมซึม ดินจะทำหน้าที่เหมือนแผ่นพลาสติกไม่ยอมให้น้ำลงไปข้างล่าง ซึ่งนักฟิสิกส์ทางดินบอกว่า ไทยอาจจะรุนแรงกว่าในต่างประเทศ เพราะว่าไฟเบา ความร้อนไม่สูง ทำให้สารเหล่านั้นเผาไหม้ไม่หมด ในอนาคตจึงต้องมีการทำแผนที่ไฟป่าให้มากขึ้น และควบคุมไม่ให้ลุกลาม

 

ประชาชนต้องเข้มแข็ง มีแผน อย่ารอหน่วยงานกลาง

 

ดร.เจน ยังฝากถึงประชาชนด้วยว่า ประชาชนมีหน้าที่ไม่ใช่แค่รับข่าวสารอย่างเดียว แต่ต้องมีแผน ประชาชนต้องฉลาด ต้องเข้มแข็ง ขณะเดียวกันกลุ่มผู้บริหารท้องถิ่น มหาวิทยาลัยท้องถิ่น สามารถช่วยในเรื่องนี้ได้ ขออย่ารอหน่วยงานกลาง 

 

ขอให้เตรียมการล่วงหน้าเพื่อให้รู้ว่าหากน้ำท่วมจะต้องดำเนินการอย่างไร ให้ทำไว้ในทุกหมู่บ้าน เมื่อน้ำมาคราวหน้าเตือนแค่ว่าน้ำจะมาภายในกี่ชั่วโมงแค่นั้นพอ เชื่อว่าหากประชาชนร่วมมือกับภาครัฐจะมีทางออกและสถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ

 

อุทกภัย

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ
ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

ภาพ: ทำเนียบรัฐบาล 

 

กานท์กลอน รักธรรม หัวหน้าด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) ระบุว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาพบว่ามีช่องว่างระหว่างการสื่อสาร ตั้งแต่ระดับโลกมายังระดับประเทศ ไปยังระดับท้องถิ่น UNDP ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผลกระทบแต่ละคนไม่เท่ากัน จำเป็นต้องมีกรอบสังคมในการมอง และทุกนโยบายต้องมองถึงกลุ่มเปราะบางเสมอ 

 

กานท์กลอนยังชี้จุดให้เห็นว่า ในรายงานแห่งชาติฉบับที่ 4 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ UNDP ซึ่งประเทศไทยต้องจัดทำเสนอประชาคมโลกในทุก 4 ปี ว่าสถานการณ์ความเสี่ยงของไทยมีอะไรบ้าง และเราจะมีนโยบายอะไรในการรับมือ

 

พบว่าไทยมีภัยธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 3 รูปแบบ ความร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วม ในรายงานจะมีข้อมูลว่ากระทบจังหวัดใดบ้าง และกระทบในด้านใดบ้าง และข้อมูลบอกลึกลงไปถึงสัตว์ พืช ชนิดใดที่ตายบ้าง 

 

รายงานนี้จะทำให้ประชาชนเห็นว่า ผลกระทบจากภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใกล้ตัวอย่างไร สถานที่ท่องเที่ยวใดจะถูกทำลาย สุขภาพคนในพื้นที่ใดจะได้รับผลกระทบ 

 

อุทกภัย

ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ภาพ: สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

 

สทนช. หน่วยงานป้อนข้อมูล ไร้อำนาจจัดการ

 

ด้าน ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า แผนแม่บทตัวใหม่ได้บรรจุการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปด้วย รวมถึงเพิ่มเติมระบบฟื้นฟูป่า

 

ขณะเดียวกัน ฐนโรจน์ยอมรับว่าสถานการณ์ที่เชียงรายอาจจะมองว่าเป็นภาวะวิกฤต แต่ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 แบ่งความรุนแรงเป็น 3 ระดับ โดยความรุนแรงระดับ 3 ในเรื่องน้ำต้องส่งผลกระทบกับความเสียหายของคน พืช หรือสิ่งของทรัพย์สินต่างๆ นายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจในการยกระดับเป็นศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ และจะต้องมีพื้นที่ที่มีน้ำล้นตลิ่งมากกว่า 30 วัน กระทบพื้นที่เศรษฐกิจ หรือพื้นที่ทางการเกษตรบริเวณกว้างมากกว่า 1 ลุ่มน้ำขึ้นไป 

 

ส่วนการส่งข้อมูลน้ำท่วมไปยังประชาชน ฐนโรจน์ย้ำว่า ตามกฎหมาย สทนช. เป็นเพียงผู้ให้ข้อมูล ไม่มีอำนาจในการสั่งการ

 

“เราประกาศแจ้งไปยังหน่วยงานเพราะไม่มีอำนาจในการที่จะประกาศไปถึงประชาชน เราแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงต่างๆ รวมทั้งกรมประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่จะรับข้อมูลไปแจ้งเตือนต่อ”

 

ฐนโรจน์บอกด้วยว่า ในช่วงที่เกิดพายุยางิ สทนช. แจ้งเตือนล่วงหน้าและลงพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หารือกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายกเทศมนตรีล่วงหน้าถึง 2 สัปดาห์เพื่อเคลียร์ทางน้ำ เตรียมการแจ้งเตือน ก่อนที่พายุจะเกิดขึ้น 

 

กระบวนการทั้งหมดจะไปสู่หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ ปภ. ต้องต่อยอดไปยังพี่น้องประชาชนให้ได้รับข่าวสาร ทั้งนี้ เรานำรถโมบายล์ไปตั้งในพื้นที่ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล แต่มีข้อจำกัดเนื่องจากมีรถโมบายล์เพียงคันเดียว

 

ฐนโรจน์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทราบว่า ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเข้ามาดูแลในเรื่องของน้ำ โดยจะมีการแต่งตั้งกองอำนวยการแห่งชาติเพื่อมาบูรณาการ สรุปและประเมินปริมาณน้ำ เพื่อให้ข้อมูลเป็น Single Command ก่อนส่งให้คณะใหญ่พิจารณาสั่งการ

 

ไฟไหม้ป่า

 

ผศ. ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุถึงสถานการณ์น้ำในปีนี้ว่า ปีนี้หนักมาก และมีคำถามที่ถูกถามมาตลอดหน้าฝนว่าจะเหมือนน้ำท่วมปี 2554 หรือไม่ ซึ่งก็ตอบมาตลอดว่า ภาคกลางจะไม่เหมือนปี 2554 แต่หวยดันไปออกที่ภาคเหนือ แม้จะมาเร็วไปเร็วแต่ล้มละลายได้ 

 

คำถามคือ น้ำน้อยกว่าปี 2554 แต่ความเสียหายมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะว่าลักษณะภูมิประเทศต่างๆ ของประเทศไทยเปลี่ยนไปมาก โคลนที่มาก็กัดเซาะเอาหน้าดินมาด้วย ทำให้ไม่รู้ว่าน้ำท่วมรอบนี้ระดับความสูงต่ำของพื้นที่จะยังเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ 

 

ขณะเดียวกันพบว่าสถานการณ์ป่าไม้ของไทยลดลงเรื่อยๆ ทั้งที่ตั้งเป้าไว้ให้มีป่าไม้ประมาณ 40% ของพื้นที่ทั้งประเทศ ตอนนี้ลดลงไปอยู่ที่ 31.47% นับว่าเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี 

 

ผศ. ดร.สิตางศุ์ ยังบอกเล่าถึงสิ่งที่เปลี่ยนไปและส่งผลให้สถานการณ์น้ำรุนแรงขึ้น ทั้งที่ดินซึ่งกลายเป็นที่ชุมชนและที่อยู่อาศัยมากขึ้นทำให้กีดขวางทางน้ำ กิจกรรมที่ปล่อยมลพิษของมนุษย์ การรุกล้ำลำน้ำทำให้ทางน้ำแคบลง โดยเฉพาะเมืองสุโขทัยที่สามารถมองความเป็นลำน้ำเดิมได้ 

 

รวมถึงการสร้างโครงสร้างทางชลศาสตร์ที่เอื้อให้เกิดภัยพิบัติมากยิ่งขึ้น เช่น คันกั้นน้ำ ซึ่งควรทำหน้าที่แผ่น้ำลงไปในลำน้ำให้มากขึ้น กลับกลายเป็นโอกาสที่น้ำจะเซาะใต้คันกั้นน้ำ ทำให้เกิดโมเมนตัมที่จะทำลายล้างได้มากขึ้นเมื่อน้ำมามาก ทำให้คันกั้นน้ำแตกได้

 

กลไกพิเศษในภาวะวิกฤต ควรเดินหน้าในยามปกติ

 

ผศ. ดร.สิตางศุ์ ระบุด้วยว่า จากการศึกษาข้อมูลพบว่า น้ำท่วมและน้ำแล้งจะสลับกันไป และมีแนวโน้มท่วมมากขึ้น แล้งมากขึ้นในทุกๆ ปี แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน คาดการณ์ให้แม่นยำได้ยาก ต้องอาศัยการอัปเดตข้อมูลให้ถี่ และเตรียมพร้อมในภาวะปกติเพื่อรับมือในภาวะวิกฤต

 

“เขื่อนแก่งเสือเต้น ถามว่าเป็นเขื่อนที่มีอนาคตหรือไม่ บอกได้ว่าไม่มีอนาคต เพราะทำ EHIA 5 ปีก็ไม่เสร็จ ชาวบ้านไม่ให้เข้าพื้นที่ 10 ปีไม่ได้สร้างแน่นอน ใครที่ผลักการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นออกไป ต้องบอกว่าใจร้ายกับคนสุโขทัยมาก เพราะคนสุโขทัยต้องลุ้นกับน้ำทุกปี แม้จะมีพนังกั้นน้ำสูงท่วมหัวก็ตาม” 

 

อีกสิ่งสำคัญที่ ผศ. ดร.สิตางศุ์ ชี้ให้เห็นชัด คือการประสานข้อมูลระหว่างฝ่ายมหาดไทยกับฝ่ายน้ำ (สทนช.) ที่ไม่ราบรื่น เช่น ช่วงที่แม่น้ำโขงยกระดับสูงขึ้น รองเลขาธิการ สทนช. บอกว่า คุยกับผู้ว่าฯ ไป 3 จังหวัดแล้ว ในความเป็นจริงควรจะประชุมจังหวัดที่น้ำไหลผ่านเพื่อแจ้งข้อมูลในคราวเดียว 

 

รวมถึงความไม่มั่นใจในเรื่องของการคาดการณ์และสถานการณ์น้ำ ไม่รู้ว่าเตือนแล้วจะเกิดหรือไม่ หรือจะเป็นการตื่นตูมเพราะที่ผ่านมาไม่แม่นยำ เกิดความลังเลในการที่จะเตือน แม้จะมีการซักซ้อมอยู่บ้าง แต่พอเกิดภัยจริงๆ มันโกลาหลไปหมด และที่สำคัญหน่วยงานแต่ละแห่งมีพันธกิจของตัวเอง มีกรอบการทำงานที่จะไม่ก้าวล่วงกัน ฉะนั้นผู้บัญชาการจะต้องทำให้ช่องว่างเหล่านั้นลดลง 

 

ผศ. ดร.สิตางศุ์ ยังฝากคำถามชวนให้คิดถึงการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วม ดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ขณะนี้ว่า การตั้ง ศปช., คอส. ในปีนี้นับเป็นกลไกพิเศษ แต่ปีหน้าถ้าเราต้องรอเพื่อให้กลไกในการที่จะรับมือกับภัยพิบัติราบรื่นหรือไม่ หรือเราต้องทำให้กลไกปกติเดินหน้าได้อย่างที่ควรจะเป็น 

 

ขณะที่ชาวบ้านสะเอียบ แก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่ กล่าวว่า แม้ตนจะเห็นด้วยกับการบริหารจัดการน้ำ แต่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะเชื่อว่าการบริหารจัดการน้ำแบบชุมชนจะช่วยแก้ปัญหาลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำเจ้าพระยา และแก้ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดสุโขทัยได้ 

 

มุมสูงสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดสุโขทัย

ภาพ: อรวรรณ ธีรพัฒนไพโรจน์

 

เสริมความรู้ เตรียมประชาชนพร้อมรับมือภัยพิบัติ 

 

ขณะที่ หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ แนะนำว่า ตนลงพื้นที่อำเภอเชียงของและอำเภอเมืองเชียงราย ไม่มีใครรู้ว่าน้ำมาจากไหน จนกระทั่งน้ำมาถึงและไหลจากหน้าบ้านไปหลังบ้านจนมิดหลังคา

 

ประชาชนมีความกังวลและไม่ทราบว่าจะต้องเช็กข้อมูลจากหน่วยงานใด ควรบูรณาการการแจ้งข้อมูลข่าวสาร และมีบุคคลกลางเป็นคนแจ้งข่าวสารในทุกๆ วัน นอกจากนี้ควรมีกฎหมายที่อนุญาตให้ทุบสิ่งกีดขวางทางน้ำได้ 

 

ด้าน ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และเครือข่ายภัยพิบัติชุมชน กล่าวถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและให้ความรู้ให้กับชุมชนทั่วประเทศได้เตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติว่า ปภ. ยืนยันว่ามีพื้นที่ชุมชนที่เสี่ยงภัยประมาณ 40,000 ชุมชนทั่วประเทศ แต่รัฐบาลให้งบประมาณมาประมาณ 20 ชุมชน คาดว่าเราจะใช้เวลาประมาณ 2,000 ปี กว่าจะทำให้ชุมชนทั้งหมดในประเทศรับรู้และเตรียมรับมือกับภัยพิบัติได้

 

“เรายังไม่มีระบบเตือนภัยที่ถึงประชาชน และไม่มีองค์กรแจ้งเตือนประชาชน ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าน้ำจะมาเมื่อไร มาอย่างไร จะมากี่นาที กี่ชั่วโมง สูงเท่าไร จึงต้องสถาปนาองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่น ให้ประชาชนเชื่อว่าถ้าเราเชื่อคุณเราจะรอดได้”

 

ในการเสวนาครั้งนี้ ไมตรียังชวนให้พิจารณาถึงข้อความเตือนภัยที่ระบุว่า “ได้แจ้งเตือนไปยังนายอำเภอที่แจ้งเตือนไปยังผู้ใหญ่บ้านแล้ว ขอให้ทำตามคำแนะนำของผู้ใหญ่” จะมีผู้ใหญ่บ้านสักกี่คนที่เข้าใจว่าต้องทำอย่างไร จะบอกประชาชนอย่างไร และจะมีประชาชนกี่คนที่เชื่อผู้ใหญ่บ้าน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องยากถ้าทำอยู่ฝ่ายเดียว ไม่ได้เกิดจากส่วนร่วมกับประชาชนในภาวะวิกฤต

 

ไมตรีแนะนำว่า ก่อนเกิดภัยพิบัติต้องทำแผนให้ความรู้กับประชาชน โดยให้ท้องถิ่นและชุมชนร่วมกัน มีหลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เจอน้ำท่วมทุกปี แต่ไม่มีเรือสักลำ รอเพียงเรือจากส่วนอื่นมาช่วย หรือการที่แผนระดับชาติกำหนดไว้ชัดเจนให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ดูแลศูนย์อพยพ แต่หลายจังหวัดยังงงว่ามีหน้าที่นี้ด้วย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ 

 

“ถ้าเราไม่คิดจะมุ่งมั่นทำให้ชุมชนได้วิเคราะห์ภัย จัดทำแผน หาเครื่องมือ และจุดอพยพ หน่วยงานผู้ปฏิบัติไม่รู้เรื่องแผน ประชาชนไม่เข้าใจ คงไม่มีทางที่จะทำแผนให้สำเร็จได้”

 

อ้างอิง: 

  • เสวนา Dialogue Forum 1 l Year 5 โลกรวนในโลกร้อน: ไต้ฝุ่นยางิ Monsoons และความท้าทายด้านภูมิอากาศในภูมิภาค
  • ​​https://www.youtube.com/watch?v=gFIuP4cuED8 
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising