×

คลังชี้ ควรโยกหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ให้แบงก์ชาติ ลดหนี้สาธารณะได้กว่า 5% จริงเหรอ?

11.05.2024
  • LOADING...

คลังชี้ ควรโยกหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ให้แบงก์ชาติ เหตุ ธปท. เป็นฝ่ายชำระเงินต้น-ดอกเบี้ยอยู่แล้ว ดังนั้นการนำหนี้ไว้ในบัญชีคลังจึงดู ‘ผิดฝาผิดตัว’ ซึ่งหากโยกจะทำให้ลดหนี้สาธารณะได้กว่า 5% เพิ่มพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ให้รัฐบาล

 

วันที่ 9 พฤษภาคม แหล่งข่าวกระทรวงการคลังกล่าวถึงกรณีกระแสข่าวการโยกย้ายหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund: FIDF) ไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

โดยเปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ‘ยังไม่ได้มีการพูดคุย’ กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

 

แต่ชี้ว่า การย้ายกองทุน FIDF กลับไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถ ‘ทำได้และควรทำ’ เนื่องจากปัจจุบันหนี้ก้อนดังกล่าว ธปท. เป็นผู้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเองอยู่แล้ว ไม่ใช่กระทรวงการคลัง

 

“ถ้าวันนี้แบงก์ชาติเป็นผู้ชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเองอยู่แล้ว การเอายอดหนี้สาธารณะมาแสดงไว้ที่เรา (กระทรวงการคลัง) จึงดูผิดฝาผิดตัว”

 

แม้ “หนี้ FIDF เป็นหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นคนกู้ (ผ่านการออกบอนด์) อย่างไรก็ดี แบงก์ชาติเป็นคนเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงิน 0.47% ส่งให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF) แล้วกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จึงไปจ่ายเจ้าหนี้อีกที”

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ต้องนำส่งค่าธรรมเนียมคิดเป็น 0.47% ของฐานเงินที่รับจากประชาชนไปให้กับ ธปท. โดยค่าธรรมเนียม 0.47% นี้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งส่วนแรก หรือ 0.01% ต่อปีของฐานเงินฝาก จะถูกส่งให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ขณะที่ 0.46% ของยอดเงินจะถูกนำไปใช้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ

 

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่า การโยกหนี้กองทุน FIDF กลับไปสามารถทำได้ 2 ทาง ได้แก่

  1. แก้ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ อย่างไรก็ดี การแก้ พ.ร.บ. ดังกล่าวอาจเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากเป็นการแก้ที่คำนิยาม และอาจต้องรวมไปถึงหนี้ของกองทุนอื่นๆ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ด้วย
  2. แก้ พ.ร.ก.กองทุน FIDF ซึ่งอาจเป็นแนวทางแก้ที่ตรงจุดกว่า

 

โดยหากจะเกิดการแก้กฎหมายจริง กระบวนการก็จะเป็นไปตามกฎหมายคือ การเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามลำดับ

 

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะระบุว่า ‘หนี้สาธารณะ’ หมายความว่า หนี้ที่กระทรวงการคลัง หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจกู้ หรือหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่ไม่รวมถึงหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือธุรกิจประกันสินเชื่อ โดยกระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน และ ‘หนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย’

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

หากโยก FIDF ไปแบงก์ชาติจะลดหนี้สาธารณะได้ 5.15% ลดสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ได้ 3.27%

 

ตามข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แสดงให้เห็นว่า หนี้กองทุน FIDF เหลืออยู่ 591,322.5 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2567 (ข้อมูลล่าสุด) คิดเป็น 5.15% ของหนี้สาธารณะรวม 11,474,153.99 บาท 

 

ดังนั้น หากคำนวณจากข้อมูลเดือนมีนาคม 2567 หากเกิดการโยกหนี้ FIDF ไปแบงก์ชาติ หนี้สาธารณะของไทยจะเหลือ 10,882, 831.49 บาท ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดเหลือ 60.10% จากระดับปัจจุบันที่ 63.37%

 

เปิดที่มากองทุน FIDF: หนี้ก้อนนี้เป็นของใคร?

 

ทั้งนี้ กองทุน FIDF ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2528 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ 

 

อย่างไรก็ดี บทบาทของกองทุนโดดเด่นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เนื่องจากมีส่วนช่วยยกภาระทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกี่ยวข้องกับหนี้เสีย ไปจนถึงการชดเชยความสูญเสียจากการปิดสถาบันการเงินที่มีปัญหาสภาพคล่อง และเพิ่มทุนของสถาบันการเงิน

 

โดยกองทุน FIDF ได้ระดมทุน (หรืออีกนัยหนึ่งคือกู้เงิน) ผ่านการออกพันธบัตร FIDF1, FIDF2 และ FIDF3 รวมกันแล้วกว่า 1.4 ล้านล้านบาทในช่วงปี 2545 

 

ในการตอบคำถามว่าหนี้ก้อนนี้เป็นของใคร แหล่งข่าวกระทรวงการคลังได้อธิบายว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 2543 คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า สถานะกองทุน FIDF และธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) อยู่ในกลุ่มเดียวกันคือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

 

แต่ว่าต่อมามีการแก้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ให้มีสถานะเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ทำให้เกิดความลักลั่น เนื่องจากตามหลักการในระดับนานาชาติ ไม่ควรนับหนี้ภาคการเงินเป็นหนี้สาธารณะ จึงมีการแก้กฎหมายในปี 2561 จึงทำให้หนี้ของ ธปท. ไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะ

 

อย่างไรก็ดี กองทุน FIDF ยังมีสถานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอยู่ ทำให้หนี้ของกองทุน FIDF ยังมีสถานะเป็นหนี้สาธารณะของประเทศอยู่

 

โยก FIDF อาจไม่ช่วยลดหนี้สาธารณะเท่าไร? เหตุ FIDF มีทรัพย์สินด้วย ไม่ได้มีหนี้อย่างเดียว

 

ขณะที่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในรายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ว่า สมัยที่ตนดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีความพยายามที่จะโอนหนี้ FIDF มาที่ ธปท. โดยเวลานั้นได้มีการหารือกับรัฐบาล พบว่า ‘อาจจะเกิดผลเสีย’ เนื่องจากงบดุลของ ธปท. สมัยนั้นไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะรับหนี้ก้อนนี้กลับคืนได้ เนื่องจากหนี้ตอนนั้นใหญ่มาก คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของ GDP โดยหากรับหนี้มาข้างเดียว ไม่มีสินทรัพย์มาด้วย ก็หมายความว่าจะขาดทุนมหาศาล ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นว่า ธปท. จะดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลได้อย่างไร

 

“ถ้าเรามีงบดุลไม่แข็งแรงพอ อาจมีความไม่เชื่อมั่นว่า ธปท. จะทำนโยบายการเงินที่เหมาะสมได้ จึงได้มีการเจรจากับรัฐบาลว่าอย่าเพิ่งโอนมาในทีเดียว ให้คิดถึงกรอบเวลาที่ยาวออกไปหน่อย ดังนั้น ธปท. จึงพยายามคิดหนทางลดหนี้ (FIDF) หนทางจึงเป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงินที่ดูแลอยู่ 0.46% จากยอดเงินฝากในแต่ละปี เมื่อเวลาผ่านไปร่วม 10 กว่าปีก็สามารถลดยอดหนี้ (FIDF) ลงมาได้ครึ่งหนึ่ง”

 

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังยังเปิดเผยว่า จากการชำระเงินหนี้กองทุน FIDF ปีละประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ทำให้คาดการณ์ว่าจะชำระหนี้ครบภายใน 8-9 ปี หรือภายในปี 2575

 

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลมองว่า การโอนย้ายหนี้ก้อนนี้จะทำให้พื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) มากขึ้น อย่างไรก็ดี ดร.ประสาร ยังขอแสดงความเห็นในเชิงเทคนิค ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องสอดคล้องกับ ธปท. ว่า กองทุนนี้ไม่ได้หนี้สินอย่างเดียว แต่ยังมีทรัพย์สินด้วย เช่น การเข้าไปเพิ่มทุนให้กับธนาคารกรุงไทยเมื่อยามเกิดวิกฤต ทำให้หุ้นกรุงไทยที่กองทุน FIDF ถืออยู่มีมูลค่าราว 3 แสนล้านบาท (ณ ขณะที่ ดร.ประสาร ยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่) ดังนั้น ธปท. จึงอาจขอให้รัฐบาลหาเงิน ซื้อหุ้นสถาบันการเงินกลับมาให้กองทุนได้ กลายเป็นว่ายอดหนี้สุทธิอาจเหลือราว 3 แสนล้านบาทได้ (ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลต้องหาเงินมาให้กองทุนราว 3 แสนล้านบาท)

 

“การโอนหนี้เข้า ธปท. โดยไม่สินทรัพย์ประกอบจะเป็นการสร้างให้ ธปท. มีการขาดทุนเพิ่ม 3 แสนล้านบาท ก็เหมือนกับเป็นการชะลอเงินนำส่งกระทรวงการคลัง ดังนั้น สุทธิแล้วเจ๊ากันเท่าไรอาจไม่มีผลในการลดหนี้สาธารณะเท่าไร” ดร.ประสาร กล่าว

 

ชมคลิปสัมภาษณ์ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ฉบับเต็มได้ที่

 

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X