นโยบายของภาครัฐที่มีออกมาในช่วงวิกฤตการระบาดของโควิด ยังคงส่งผลกระทบต่อคนในแวดวงธุรกิจบันเทิงอย่างต่อเนื่องและเป็นวงกว้าง ทั้งภาคคนดนตรี และล่าสุดคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์รวมไปถึงสื่อบันเทิงก็ได้เวลาขับเคลื่อนต่อ
ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (7 กรกฎาคม) ตัวแทนจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, สมาคมวิชาชีพภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย และสมาคมภาพยนตร์อิสระไทย เดินทางมายื่นหนังสือที่รัฐสภา ขอผ่อนปรนธุรกิจกองถ่าย นำโดย อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย (TFDA), นนทรีย์ นิมิบุตร, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ตัวแทนคณะกรรมการสมาคมฯ ร่วมด้วย หมิว-สิริลภัส กองตระการ, เฌอเอม-ชญาธนุส ศรทัตต์ ในฐานะตัวแทนนักแสดง
ร่วมกับ สมาคมวิชาชีพภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย (FDCA) และสมาคมภาพยนตร์อิสระไทย (TIFA) นำหนังสือมาที่รัฐสภา เพื่อมาขอผ่อนปรนธุรกิจกองถ่าย ต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบการใช้เงินตามพระราชกําหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจสภาผู้แทนราษฎร และพรรคก้าวไกล โดยมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. อนุญาตให้ธุรกิจกองถ่ายสามารถปฏิบัติงานได้ตามข้อกำหนดของ ศบค. โดยมีทีมงานจำนวนไม่เกิน 50 คน และให้สำนักงานเขตและอำเภอพิจารณาอนุญาตการถ่ายทำ โดยใช้ผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาของทีมงานทุกคนภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง
2. ขอให้ทางภาครัฐส่งหนังสือเวียนแจ้งถึงข้อกำหนดนี้ให้กับศาลากลางจังหวัด สำนักงานเขตและที่ว่าการอำเภอทุกจังหวัด เพื่อให้รับทราบตรงกันว่าธุรกิจกองถ่ายภาพยนตร์ เป็นธุรกิจที่ได้รับการผ่อนปรนภายใต้มาตรการควบคุมโรคดังกล่าว
3. ขอให้ทางภาครัฐจัดหาวัคซีนให้กับบุคลากรในธุรกิจภาพยนตร์และสื่อวีดิทัศน์ที่อยู่นอกเหนือจาก ม.33 โดยทางสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยจะเป็นผู้รวบรวมรายชื่อให้
4. หากทางภาครัฐต้องการปรับเปลี่ยนมาตรการกองถ่ายเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด ขอให้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ ให้เหมาะสมและชัดเจน โดยมีสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยและตัวแทนผู้ประกอบการอื่นๆ เข้าร่วมหารือด้วย
5. ขอให้ทางภาครัฐจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น วัคซีนประเภท mRNA ให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบกิจการกองถ่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นการเร่งด่วน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่อาจรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต
อย่างที่ทราบมาโดยตลอดว่า ณ เวลานี้ วิกฤตการระบาดของโรคโควิดในประเทศไทยได้กลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง ขณะเดียวกันนโยบายและมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐนั้นได้สร้างผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง และหนึ่งในกลุ่มวิชาชีพที่ได้รับผลกระทบโดยที่แทบไม่ได้รับการดูแลเยียวยาที่เหมาะสมก็มักจะตกไปที่กลุ่มคนในอุตสาหกรรมบันเทิง ทั้งภาคดนตรีที่รวมตัวกันก้าวออกมายื่นข้อเรียกร้องก่อนหน้านี้ และล่าสุดก็ถึงเวลาของคนในวิชาชีพภาพยนตร์และบันเทิงที่ได้เวลาขับเคลื่อนตาม
THE STANDARD POP จะติดตามข้อมูลข้าวสารอย่างใกล้ชิดว่า หลังจากนี้ภาครัฐจะมีการตอบสนองหรือมีมาตรการเยียวยาอย่างไรต่อข้อเรียกร้องที่ทาง 3 สมาคม ยื่นหนังสือในวันนี้ และจะนำความเคลื่อนไหวมารายงานให้ทราบอีกครั้ง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: