×

‘สมรสเท่าเทียม’ การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในระบบกฎหมายครอบครัวไทย

15.01.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ในประวัติศาสตร์ระบบกฎหมายไทย มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายครอบครัวเพียง 3 ครั้งนับจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดที่ถูกยึดถือมาของระบบกฎหมายครอบครัวไทยในระดับพื้นฐานจนถึงขนาดที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรืออาจเรียกได้ว่า ‘พลิกแผ่นดิน’ ในระบบกฎหมายครอบครัว 
  • แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงอิทธิพลที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวที่มีต่อสังคมไทย ที่อาจส่งผลให้ไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมได้อีก

ในระบบกฎหมายไทยนั้นได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ‘กฎหมายครอบครัว’ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อกำเนิดขึ้นของสถาบันครอบครัวโดยการสมรส ตลอดจนความสัมพันธ์ทางแพ่งระหว่างคู่สมรสและบุตร ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการสมรสเพื่อให้ทันสมัยกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา 

 

แต่ทว่ามีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายครอบครัวเพียง 3 ครั้งนับถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดที่ถูกยึดถือมาของระบบกฎหมายครอบครัวไทยในระดับพื้นฐานจนถึงขนาดที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรืออาจเรียกได้ว่า ‘พลิกแผ่นดิน’ ในระบบกฎหมายครอบครัว 

 

กล่าวคือ การเกิดขึ้นของระบบผัวเดียวเมียเดียว เมื่อมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใน พ.ศ. 2478 การยกเลิกสถานะช้างเท้าหน้าหรือความเป็นหัวหน้าครอบครัวของสามี เมื่อมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ใน พ.ศ. 2519 และการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้การสมรสสามารถกระทำได้โดยบุคคลทุกคน ไม่จำกัดเฉพาะชายกับหญิง หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้ 

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หนแรก

 

เกิดขึ้นเมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 แทนที่พระอัยการลักษณะผัวเมียในกฎหมายตรา 3 ดวง ที่ใช้บังคับแก่ความสัมพันธ์ในครอบครัวของคนไทยมานับแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

 

ถือเป็นกฎหมายที่สะท้อนจุดเด่นประการหนึ่งของครอบครัวไทยในสมัยโบราณ ซึ่งชายไทยอาจมีภริยาได้หลายคนในขณะเดียวกัน โดยภริยาทุกคนนั้นต่างเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ในทางตรงกันข้าม หญิงไทยสามารถมีสามีได้เพียงคนเดียว

 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 หลักความเสมอภาคได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม และเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ยุติระบบครอบครัวแบบผัวเดียวหลายเมียตามจารีตประเพณีที่ได้รับการยึดถือในสังคมไทยมาอย่างยาวนานลง โดยการห้ามมิให้มีการสมรสซ้อน ในขณะที่การสมรสครั้งก่อนยังไม่สิ้นสุด ส่งผลให้ชายและหญิงต่างมีคู่สมรสได้เพียงคนเดียวอย่างเท่าเทียมกัน 

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หนที่ 2

 

เป็นผลจากการเกิดขึ้นของหลักความเสมอภาคระหว่างเพศในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน 

 

เป็นเหตุให้เกิดการตรวจชำระประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อยกเลิกสถานะช้างเท้าหน้าของสามีที่เป็นหัวหน้าครอบครัว และภริยาตกอยู่ในสถานะช้างเท้าหลัง ต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ไม่มีสิทธิมีเสียงในการจัดการทรัพย์สินใดๆ ของครอบครัว ซึ่งเป็นลักษณะพื้นฐานของครอบครัวในสังคมไทยมาช้านาน

 

มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ยกเลิกระบบทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาแบบเดิม โดยแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาออกเป็นสินส่วนตัวและสินสมรส และกำหนดให้การจัดการสินสมรสนั้นสามีและภริยาต้องทำร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายก่อน ทำให้หญิงมีสิทธิมีเสียงในครอบครัวเท่าเทียมกับชายผู้เป็นสามี และเป็นระบบทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาที่ยังคงใช้บังคับอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน 

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หนที่ 3

 

มาจากผลของกระแสการเรียกร้องให้ยุติการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพราะเหตุแห่งเพศของคู่สมรสที่ในอดีตการสมรสเป็นเรื่องของชายกับหญิงเท่านั้น และเปิดกว้างให้การสมรสสามารถทำได้โดยบุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน 

 

ซึ่งไม่แตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงสองครั้งก่อนหน้า ที่หลักความเสมอภาคมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเกิดขึ้นของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้การสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 สามารถกระทำได้โดยบุคคลสองคนโดยไม่จำกัดเพศของคู่สมรส จากที่เดิมคู่สมรสจะต้องเป็นชายฝ่ายหนึ่งและหญิงฝ่ายหนึ่งเท่านั้น 

 

แต่ส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หนที่ 3 นี้มีความแตกต่างจากครั้งก่อนๆ ก็ด้วยไม่ได้เป็นเพียงการจำกัดจำนวนคู่สมรสหรือเปลี่ยนแปลงสถานะในครอบครัวของคู่สมรสเท่านั้น 

 

หากแต่เป็นการสลายความหมายของการสมรสตามธรรมชาติลงอย่างสิ้นเชิง ด้วยการสมรสจะไม่ใช่การเข้ามารวมกันระหว่างชายกับหญิงเป็นครอบครัว และให้กำเนิดบุตรสืบเผ่าพันธุ์มนุษย์อีกต่อไป แต่เป็นการมองการสมรสในมิติใหม่ว่า หมายถึงการเข้ามารวมกันระหว่างบุคคลสองคน เพื่ออุปการะเลี้ยงดูช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันเป็นสภาวะของความสัมพันธ์ในการใช้ชีวิตคู่ที่อยู่เหนือปัจจัยด้านเพศของคู่สมรส 

 

บทสรุปที่ไม่อาจกลับไปเหมือนเดิมได้อีก

 

แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงอิทธิพลที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีต่อสังคมไทย 

 

โดยเฉพาะปรากฏการณ์ที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ได้รับการสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีการแบ่งแยกฝักฝ่ายหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งสะท้อนถึงระดับของความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสังคมไทย ว่าได้ก้าวพ้นจากการแบ่งแยกและกีดกันบนพื้นฐานของความแตกต่างในด้านเพศของบุคคลอันเป็นสิ่งที่เจ้าตัวไม่อาจเลือกกำเนิดได้ และหันมาให้การยอมรับบุคคลทุกคนในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

 

ไม่ว่าผลการพิจารณาของรัฐสภาเกี่ยวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้จะออกมาอย่างไร ก็เป็นที่น่าจับตามองว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หนที่ 3 ในระบบกฎหมายครอบครัวไทยนี้อาจส่งผลให้สังคมไทยไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมได้อีก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising