×

เปิดแนวทางดันส่งออกไทยผงาดในห่วงโซ่อุปทานโลกยุคใหม่ นักเศรษฐศาสตร์เตือนจับตานำเข้า ปัจจัยเสี่ยงฉุด GDP ไทยที่ไม่ควรมองข้าม

08.06.2023
  • LOADING...
WEALTH IN DEPTH

เปิดแนวทางผลักดัน ‘ส่งออกไทย’ ผงาดในห่วงโซ่อุปทานโลกยุคใหม่ หลังช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ส่งออกหดตัวไปแล้ว 5.2% นักเศรษฐศาสตร์เตือนจับตา ‘นำเข้า’ ความเสี่ยงฉุด GDP ไทยที่ไม่ควรมองข้าม

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics กล่าวในรายการ WEALTH IN DEPTH ของ THE STANDARD WEALTH ว่าภาคส่งออกของไทยในปีนี้มีโอกาสที่จะไม่ขยายตัวเลย โดย ttb analytics ประเมินว่าอัตราการเติบโตมีโอกาสติดลบ 0.5% ในปี 2023 หลังจากขยายตัวแรงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2021-2022) ซึ่งโต 5.5% และ 17% พร้อมทั้งชี้ว่าสถานการณ์ภาคส่งออกของไทยเป็นไปตามโมเมนตัมของเศรษฐกิจโลก

 

“สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอังกฤษ มีโอกาสหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิคไปแล้วในบางประเทศ และขณะที่หลายคนหวังว่าหลังจากจีนผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID จะกลับมาโตแรง แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นดังคาด ส่วนญี่ปุ่นซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดสำคัญของไทย แม้จะเริ่มฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยวแล้ว แต่ก็ยังฟื้นตัวได้ไม่มากพอ ดังนั้นโมเมนตัมการส่งออกของไทยจึงจะไม่เหมือน 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว” นริศกล่าว

 

วิเคราะห์ส่งออกไทยครึ่งหลังปี 2023

จากข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า การส่งออก 4 เดือนแรกติดลบไปแล้ว 5.2% ดังนั้นเพื่อที่จะบรรลุประมาณการของ ttb analytics ที่ -0.5% นริศมองว่าอัตราการเติบโตของภาคส่งออกไทยควรโตให้ได้ 4-5% เป็นอย่างน้อยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงท้ายไตรมาส 3 และ 4

 

อย่างไรก็ตาม นริศชี้ให้เห็นว่า แม้อัตราการเติบโต (Growth) แบบปีต่อปี (YoY) ซึ่งมีปัจจัยตัวเลขฐานเป็นส่วนเกี่ยวข้องของส่งออกไทยปีนี้ดูเหมือนไม่โต แต่เมื่อเปรียบเทียบในเชิงมูลค่า การส่งออกของไทยปีนี้ฟื้นตัวสูงกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว

 

สอดคล้องกับ ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่กล่าวในรายการ WEALTH IN DEPTH ว่าแม้ว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้อัตราการเติบโตจะติดลบ แต่ภาพรวมยังดีกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด นอกจากนี้ยังมองว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วเมื่อเดือนมกราคม ที่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

อย่างไรก็ตาม ชัยชาญเตือนว่าไทยมีโอกาสเห็นตัวเลขส่งออกติดลบอีกในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน แต่เป็นอัตราที่น้อยลง โดยช่วงครึ่งปีแรกส่งออกไทยน่าจะติดลบประมาณ 5-6% 

 

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเอเชียอื่นๆ อย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย หรือเกาหลีใต้ พบว่าสถานการณ์การส่งออกของไทยยังดีกว่า ติดลบน้อยกว่า และไม่ได้ติดลบทุกกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กระนั้นชัยชาญยังมองว่าสำหรับครึ่งปีหลังก็ยังมีความท้าทาย ดังนั้นภาครัฐและเอกชนจึงควรช่วยกันวางกลยุทธ์เพื่อคว้าโอกาสในวิกฤต

 

เจาะกลุ่มสินค้าส่งออก กลุ่มไหนรุ่ง-ร่วง

ชัยชาญกล่าวว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ สินค้าเกษตรซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของการส่งออกทั้งหมดยังขยายตัวอยู่และถือว่ายังมีการขับเคลื่อนที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้ากลุ่มผักและผลไม้ โดยในเดือนเมษายนขยายตัวถึง 100% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

 

แต่กลุ่มสินค้าที่ยังเผชิญปัญหาคือกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 18% โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากประเทศคู่ค้าหลัก รวมถึงสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ 

 

นอกจากนี้อีกกลุ่มสินค้าที่เป็นปัญหาคือเม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เนื่องจากนโยบาย Dual Circulation ของรัฐบาลจีน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมในจีนลดการพึ่งพาต่างประเทศมากขึ้น

 

เปิดแผนพา ‘ส่งออกไทย’ พุ่งทะยาน ท่ามกลางห่วงโซ่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงเร็ว 

  1. ส่งเสริมสินค้า Champion หนุนการส่งออกอาหาร ซึ่งประสบความสำเร็จแล้วในหลายกลุ่มผลไม้และในหลายตลาด

 

“อาหารคือหนึ่งในยุทธศาสตร์ส่งออกของไทย เนื่องจากอาหารคือหนึ่งใน Soft Power ของไทย ซึ่งมีพลังสูงมาก ดังนั้นทุกภาคส่วนควรส่งเสริมและขับเคลื่อน Soft Power โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอาหารต่อไป” ชัยชาญกล่าว

 

“อาหารและผลไม้ ผมมองว่ายังโตได้ดีชัดเจน นอกจากนี้อีกกลุ่มสินค้าที่อาจจะโตไม่แรงเท่าอาหารหรือผลไม้คือชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งไทยติด Top 10 ของโลกด้านการผลิต” นริศกล่าว

 

  1. เจาะตลาดใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เอเชียใต้ โดยเฉพาะที่อินเดีย และลาตินอเมริกา เป็นต้น

 

“ธุรกิจต่างๆ กำลังย้ายฐานผลิตไปลาตินอเมริกามากขึ้น จากนโยบาย China Plus One Policy ดังนั้นอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำของไทยยังสามารถหาโอกาสจากจุดนี้ได้ ท่ามกลางสถานการณ์ค่าระวางเรือที่ถูกมากในตอนนี้ และถูกกว่าช่วงก่อนโควิดอีก” ชัยชาญกล่าว

 

  1. ฝังตัวเข้าไปในห่วงโซ่อุปทานในระยะยาว โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานด้านอิเล็กทรอนิกส์ และปรับตัวให้เข้ากับห่วงโซ่อุปทานที่กำลังเปลี่ยนแปลง

 

จับตาความเสี่ยง ‘ภัยแล้ง-เอลนีโญ’

ชัยชาญยังกล่าวอีกว่า ปัญหาภัยแล้งและเอลนีโญถือเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน ซึ่งต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย เนื่องจากส่งออกไทยพึ่งพาเกษตรค่อนข้างมาก และภาคเกษตรคืออุตสาหกรรมต้นน้ำ ทั้งอาหาร พืช และแอลกอฮอล์ เป็นต้น ดังนั้นการบริหารการจัดสรรน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

 

สอดคล้องกับนริศซึ่งมองว่าปัญหาภัยแล้งและเอลนีโญเป็นปัญหาที่เลี่ยงไม่ได้ และทุกประเทศต้องเผชิญเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม นริศชี้ให้เห็นว่า ในเชิงสินค้าส่งออกของไทยที่เป็นสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูปค่อนข้างมีความยืดหยุ่นต่อปัญหาดังกล่าวได้ดี และเชื่อว่าไทยยังจะสามารถรักษาสถานะครัวโลกได้

 

“ต้องบอกว่าเอกชนไทยปรับตัวเก่งมาก และอุตสาหกรรมอาหารไทยเจาะตลาดต่างประเทศอยู่แล้ว ผมจึงไม่คิดว่าปัญหานี้จะกระทบในเชิงตัวเลขส่งออก แต่แน่นอนว่าในเรื่องราคาผลผลิตและการบริโภคในประเทศอาจชะลอตัว ซึ่งทุกประเทศจะเจอโจทย์นี้เหมือนกัน แล้วผมคิดว่าไทยอาจเป็นคนปรับตัวและเปลี่ยนผ่านได้เร็วด้วยซ้ำในการทำการเกษตรที่ยั่งยืน เนื่องจากไทยมีศักยภาพและดัชนีความมั่นคงทางอาหาร (Food Security Index) ค่อนข้างสูง” นริศกล่าว

 

กูรูแนะเฝ้าระวัง ‘นำเข้า’ อีกปัจจัยเสี่ยงฉุด GDP

นริศชี้ให้เห็นอีกประเด็นที่มีความสำคัญแต่ยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดเท่าไร คือ การนำเข้า ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกับส่งออก หรือประมาณ 60% แล้วแต่ราคาพลังงาน โดยนริศกล่าวไว้ว่า “อาการที่ผมกลัวที่สุดคือส่งออกหด แต่นำเข้าไม่หด จะฉุด GDP ลงไปได้ โดยหากสมมติว่าส่งออกไม่โต แต่นำเข้ายังโต 2-3% GDP ไทยอาจจะโตไม่ถึง 3%”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising