×

ส่งออกไทย พ.ค. ขยายตัว 7.2% สูงสุดในรอบ 14 เดือน เหตุการผลิตของโลกฟื้น-สินค้าเกษตรขยายตัว

21.06.2024
  • LOADING...

ส่งออกไทยเดือนพฤษภาคมขยายตัว 7.2% สูงสุดรอบ 14 เดือน ขณะที่นำเข้าลดลง เนื่องจากการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า (EV) ลดลง ทำให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุลในรอบ 5 เดือน พร้อมคงเป้าหมาย (Working Target) ทั้งปีไว้ที่ 1-2% แต่จับตาความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และผลการเลือกตั้งของแต่ละประเทศ

 

วันนี้ (21 มิถุนายน) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผย การส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2567 มีมูลค่า 26,219.5 ล้านดอลลาร์ (960,220 ล้านบาท) ขยายตัว 7.2% สูงสุดในรอบ 14 เดือน ทำให้การส่งออกไทย 5 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 2.6%

 

สำหรับปัจจัยหนุนการส่งออกไทยเดือนพฤษภาคมที่สำคัญมาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • การส่งออกสินค้าเกษตรที่กลับมาขยายตัว 36.5% เนื่องจากเป็นเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก
  • ภาคการผลิตของโลกฟื้นตัวได้ดี สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโลก (Global PMI) ที่มีทิศทางขยายตัวเร่งขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง 

 

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,563.3 ล้านดอลลาร์ หดตัว 1.7% ทำให้ดุลการค้าพลิกกลับมาเกินดุล 656.1 ล้านดอลลาร์ (13,214 ล้านบาท) อย่างไรก็ดี ดุลการค้า 5 เดือนแรกของปี 2567 ก็ยังขาดดุล 5,460.7 ล้านดอลลาร์ (243,976 ล้านบาท)

 

พูนพงษ์เปิดเผยอีกว่า เหตุผลหลักที่ทำให้ดุลการค้าไทยกลับมาเกินดุล มาจากการนำเข้า EV ที่ลดลง ทำให้มูลค่าการนำเข้าลดลงตามไปด้วย

 

เปิดแนวโน้มการส่งออกในปี 2567

 

กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังเติบโตได้ดี โดยเดือนมิถุนายนก็น่าจะยังเป็นบวกอยู่ พร้อมคงเป้าหมายทั้งปีไว้ที่ 1-2%

 

โดยมีปัจจัยหนุน ดังนี้

  • การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ช้าแต่มั่นคง โดยการประเมินขององค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่า ปริมาณการค้าโลกจะขยายตัว 2.6% จากปีก่อนหน้า
  • ปัญหาเงินเฟ้อที่บรรเทาเบาบางลง
  • ท่าทีของธนาคารกลางแต่ละประเทศที่มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนและการผลิตโลกให้ฟื้นตัวอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงหลักๆ ได้แก่

  • ภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
  • ปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในบางเส้นทาง
  • ผลการเลือกตั้งของแต่ละประเทศยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลต่อนโยบายการค้าที่มีต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยด้วย
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X