พาณิชย์เผยส่งออกไทยเดือนพฤษภาคมติดลบ 4.6% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 แต่ติดลบน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ มองครึ่งปีหลังมีโอกาสพลิกกลับมาเป็นบวกสูง เชื่อทั้งปียังขยายตัวได้ 1-2%
กีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การส่งออกไทยมีมูลค่ารวมที่ 24,340.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 4.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน โดยหากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ส่งออกไทยจะหดตัว 1.4% ขณะที่การนำเข้าของไทยมีมูลค่า 26,190.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.4% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,849.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับในภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกไทยมีมูลค่า 116,344.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 5.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 122,709.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 2.5% ส่งผลให้ดุลการค้า 5 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 6,365.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อแยกดูเป็นรายสินค้าพบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในเดือนพฤษภาคมติดลบ 16.3% (YoY) หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัว 54.8%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 41.7%, ยางพารา หดตัว 37.2%, อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัว 23.8%, ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัว 63.0% ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวรวม 1.3%
สำหรับการส่งออกหมวดสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม ขยายตัว 1.5% (YoY) กลับมาขยายตัวในรอบ 8 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 8.3%, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 10.2%, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัว 87.7% ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว 26.8%เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัว 4.8% และผลิตภัณฑ์ยาง หดตัว 6.0%
ขณะที่ภาพรวมตลาดส่งออกสำคัญ พบว่า ส่วนใหญ่กลับมาขยายตัว เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอาเซียน (5) สะท้อนอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าหลายประเทศจะยังเผชิญกับความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลให้การส่งออกไปตลาดจีนกลับมาหดตัว โดยภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุปได้ดังนี้
- ตลาดหลัก หดตัว 6.0% โดยกลับมาหดตัวในตลาดจีน 24.0% และหดตัวต่อเนื่องในตลาดญี่ปุ่น 1.8% และ CLMV 17.3% ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ อาเซียน (5) และสหภาพยุโรป (27) กลับมาขยายตัว 4.2%, 0.1% และ 9.5% ตามลำดับ
- ตลาดรอง หดตัว 4.5% โดยหดตัวในตลาดเอเชียใต้ 25.2% และลาตินอเมริกา 7.0% แต่ขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย 11.4% ตะวันออกกลาง 11.2% แอฟริกา 7.9% รัสเซียและกลุ่ม CIS 97.7% และสหราชอาณาจักร 5.9%
- ตลาดอื่นๆ ขยายตัว 226.0% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 330.2%
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปัจจัยลบที่ทำให้การส่งออกในเดือนพฤษภาคมหดตัวเกิดจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังมีความไม่แน่นอน แม้ว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมโลกเร่งตัวขึ้นจากการผ่อนคลายปัญหาห่วงโซ่การผลิต แต่คำสั่งซื้อใหม่สำหรับการส่งออกไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคควบคุมการใช้จ่ายมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยหดตัวน้อยลงกว่าเดือนก่อนหน้า และทำมูลค่าสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังของเดือนพฤษภาคม โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวในรอบ 8 เดือน จากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ หม้อแปลงไฟฟ้าฯ) ยานพาหนะและส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า (เช่น เครื่องปรับอากาศ) ขณะที่ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ อาเซียน (5) และสหภาพยุโรป กลับมาขยายตัวอีกครั้ง
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า ไทยกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกจาก
- ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจลุกลามไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป
- สภาพอากาศแปรปรวน อาจส่งผลต่อปริมาณสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ในปีนี้
- แรงกดดันของอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภค และภาคการผลิตสินค้า
- การเปลี่ยนแปลงแนวทางนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะนโยบายการพึ่งพาตนเองของจีน
ขณะที่ปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย ได้แก่
- การดำเนินนโยบายในเชิงรุกและเชิงลึกของกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งรักษาตลาดเดิม เจาะตลาดใหม่ เพื่อขยายโอกาสของผู้ประกอบการส่งออกไทย
- แนวโน้มการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจช่วยลดแรงกดดันต่อภาคการบริโภคและการลงทุน
- ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศอาจเป็นโอกาสที่ดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย
“เราเชื่อว่าในช่วง 7 เดือนที่เหลือ การส่งออกไทยมีโอกาสจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกจากการดำเนินการเชิงรุกเพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออก รวมถึงการขยายตัวใหม่ เช่น ในกลุ่มตะวันออกกลางและ CIS ทำให้ในภาพรวมเรายังคงเป้าการส่งออกในปีนี้ที่ 1-2%” กีรติกล่าว