×

‘พาณิชย์’ เผยส่งออกไทยเดือน ก.ค. ขยายตัว 20.27% แต่ห่วงโควิดอาจกระทบตัวเลขเดือน ส.ค. หลังพบโรงงานผลิต-การขนส่งข้ามแดนเริ่มมีปัญหา

23.08.2021
  • LOADING...

การส่งออกไทยเดือนกรกฎาคม 2564 ยังขยายตัวได้ 20.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกขยายตัวแล้ว 16.20% คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวมกว่า 4.7 ล้านล้านบาท

 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา การส่งออกไทยมีมูลค่ารวมที่ 22,650 ล้านดอลลาร์ หรือราว 7.08 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.27%YoY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และหากตัดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกของไทยในเดือนดังกล่าวขยายตัวได้ 25.38% 

 

รมว.พาณิชย์ ระบุว่า ตัวเลขส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีในเดือนกรกฎาคมเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การเติบโตของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร การเติบโตของสินค้าอุตสาหกรรม และการเติบโตของตลาดหลักการส่งออกไทยประกอบด้วย จีน (+41%) สหรัฐอเมริกา (+22.2%) ญี่ปุ่น (+23.3%) ยุโรป (20.9%) และอาเซียน (+26.5%) รวมถึงกลุ่มตลาดรอง ได้แก่ อินเดีย (+75.3%) ลาตินอเมริกา (93.5%) และรัสเซีย (+53%) โดยมีเพียงออสเตรเลียประเทศเดียวที่เติบโตลดลง

 

นอกจากนี้ การส่งออกไทยยังได้อานิสงส์จากเงินบาทที่อ่อนค่าลงและดัชนี PMI โลกที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ยังอยู่ในระดับสูง

 

“หากดูแยกตามหมวดสินค้า พบว่ากลุ่มสินค้าเกษตรมีการขยายตัวที่ 24.3% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 สามารถทำรายได้เข้าประเทศถึง 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ 18% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5” จุรินทร์กล่าว

 

จุรินทร์ระบุว่า แผนงานที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมเดินหน้าต่อในช่วงที่เหลือของปีเพื่อส่งเสริมการส่งออกไทย คือการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนในรูป กรอ.พาณิชย์ อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันจะเร่งรัดเปิดตลาดใหม่ให้มีผลทางภาคปฏิบัติเป็นรูปธรรม พร้อมจะให้ความสำคัญกับการกระจายวัคซีนสู่ภาคการผลิตเพื่อป้องกันไม่ให้สายการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกต้องสะดุดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด

 

“เราคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดจะเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกในเดือนสิงหาคมหรือกันยายนเป็นต้นไป เราเริ่มเห็นโรงงานที่ผลิตเพื่อส่งออกบางแห่งต้องปิดตัวชั่วคราว ขณะที่การขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาการระบาดก็เริ่มพบปัญหาบ้างแล้ว เช่น การขนสินค้าผ่านเวียดนามไปจีน หรือการส่งน้ำยางไปมาเลเซีย” จุรินทร์กล่าว

 

อย่างไรก็ดี เรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่เคยเป็นปัญหาในช่วงก่อนหน้านี้ ปัจจุบันพบว่าตัวเลขนำเข้าตู้และส่งออกได้เข้าสู่ภาวะสมดุลแล้ว แต่ปัญหาเรื่องค่าระวางเรือที่แพงยังคงมีอยู่ ทำให้การส่งออกข้าวของไทยเริ่มแข่งขันกับคู่แข่งได้ยาก โดยในบางช่วงพบว่าค่าระวางเรือมีราคาสูงกว่ามูลค่าสินค้าเสียอีก

 

“เราพยายามแก้ปัญหานี้อยู่ โดยจะช่วยเป็นตัวกลางให้ผู้ส่งออกเอกชนจับมือกันเช่าเหมาเรือหรือแชร์ค่าระวางร่วมกัน ซึ่งเมื่อรวมกับเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง เชื่อว่าการส่งออกข้าวในช่วงที่เหลือจะปรับตัวดีขึ้น” จุรินทร์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X