ส่งออกไทยหดตัว 4.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กระทบต่อความต้องการสินค้า นอกจากนี้ ประเทศคู่ค้าหลักหลายแห่งยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ ด้านกระทรวงพาณิชย์มองสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในครึ่งปีหลัง
วันนี้ (30 มีนาคม) สินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค่า 22,376.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (730,123 ล้านบาท) หดตัว 4.7% (ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ) จากปีก่อนหน้า นับเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และหนักกว่าเดือนมกราคมที่หดตัวไปแล้ว 4.5% ทำให้การส่งออกไทย 2 เดือนแรก (YTD) หดตัว 4.6%
เมื่อพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมพบว่า กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงหดตัว รวมทั้งสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (โดยเฉพาะเม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์) และทองคำ โดยลดลงมาจากปัจจัยราคาเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัว 3.6% (YoY) นับเป็นการพลิกบวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนต่อการส่งออกสูงยังหดตัว 6.2% (YoY) นับเป็นการหดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน
แม้ว่าการส่งออกภาพรวมของหมวดอุตสาหกรรมจะหดตัว แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 3.6% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ขณะที่อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 81.7%
เมื่อพิจารณาเป็นรายตลาดพบว่า การส่งออกไปตลาดหลัก (ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น) ยังคงหดตัว 5.9% แต่การส่งออกไปตลาดเป้าหมาย โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง และอินเดีย อีกทั้งการส่งออกไปฮ่องกง ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย กลับมาขยายตัวในรอบ 10 เดือน
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า ช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ประเทศคู่ค้าหลักยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์คาดว่าช่วงหลังของปีการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงตามแนวโน้มราคาพลังงาน และปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกที่ทยอยคลี่คลาย นอกจากนี้ แรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีน และการฟื้นตัวของภาคบริการและการท่องเที่ยวจะช่วยหนุนอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าในระยะต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กูรูแนะกลยุทธ์นักลงทุนในปี 2023 ศึกษาตลาด อย่าหวั่นไหว และรู้ข้อจำกัดตนเอง
- สินทรัพย์ไหนรุ่ง/ร่วง? เปิด 5 คำทำนายจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ สำหรับปี 2023
- โปรดระวังดอลลาร์ ‘กลับทิศ’ กระทบเศรษฐกิจโลก