กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกไทยเดือนตุลาคม 2563 หดตัว 6.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยถือเป็นตัวเลขซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าจะหดตัวราว 4.5% ซึ่งการหดตัวดังกล่าวทำให้ยอดเฉลี่ยสะสม 10 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวลงราว 7.26%
ส่วนตัวเลขการนำเข้าเดือนตุลาคม 2563 หดตัวลง 14.32% ขณะที่ยอดเฉลี่ยสะสม 10 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวราว 14.6%
เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่าตัวเลขการส่งออกเดือนตุลาคมถือว่าหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ สะท้อนถึงภาวะตลาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
การส่งออกที่หดตัวมากกว่าคาดการณ์นั้น ส่วนหนึ่งมาจากสินค้าเกษตรที่กลับมาหดตัว ซึ่งการหดตัวในแต่ละสินค้ามีสาเหตุที่แตกต่างกันไป เช่น การส่งออกน้ำตาลที่หดตัวในรอบนี้สืบเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากผู้เล่นรายใหญ่ เช่น บราซิล ขณะเดียวกันยังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งด้วย
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะหดตัวในระดับ -6 ถึง -7% โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าตัวเลขการส่งออกของไทยทั้งปีนี้จะหดตัวเฉลี่ยที่ -7%
ส่วนแนวโน้มปีหน้ายังต้องจับตาประเด็นวัคซีนว่าจะมีพัฒนาการอย่างไร คาดว่าจะเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้การส่งออกไทยช่วงครึ่งหลังของปีหน้าฟื้นตัวตามไปด้วย
สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่าแม้ตัวเลขการส่งออกเดือนตุลาคมจะหดตัวมากกว่าการคาดการณ์ของฝ่ายวิจัยกรุงศรีที่คาดว่าจะหดตัวเพียง 3.6% แต่แนวโน้มในระยะข้างหน้ายังเชื่อว่าการส่งออกไทยจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องโดยเฉพาะในปีหน้า ซึ่งการส่งออกน่าจะกลับมาเป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทยได้อีกครั้ง
“แม้ตัวเลขเดือนตุลาคมจะไม่ดีนัก แต่เรายังมั่นใจว่าปีหน้าส่งออกจะกลับมาได้และจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย เพราะถ้าดูการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การการค้าโลก (WTO) ล้วนปรับคาดการณ์การค้าโลกในปีหน้าเพิ่มขึ้น”
สมประวิณกล่าวว่าทั้ง IMF และ WTO ซึ่งปรับคาดการณ์การค้าโลกเพิ่มเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลายประเทศผลักดันออกมาจะเริ่มเห็นผลชัดเจนในปีหน้า ทำให้ดีมานด์ของแต่ละประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์