×

“ผมมองว่า ช่วง 5 ปีนี้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทยจะพุ่งสูงขึ้น” DELTA ทุ่ม 3 พันล้าน เปิดโรงงานแห่งที่ 8 ทุ่มวิจัย R&D รับคลื่นอุตสาหกรรม EV

23.03.2024
  • LOADING...

หลังจากที่ DELTA หารือ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา เพื่อร่วมพัฒนา Human Capital ทุนการศึกษา และพัฒนาหลักสูตรกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ พร้อมทั้งเร่งเครื่องดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิต EV และเศรษฐกิจดิจิทัล 

 

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในการเปิดอาคาร ‘Delta Plant 8’ และศูนย์วิจัยและการพัฒนาด้านยานยนต์ไฟฟ้า (R&D Center) ของบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (DELTA) ว่า เดลต้าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดในไทย ซึ่งโรงงานใหม่นี้เป็นผลจากการขยายกำลังการผลิต โดยเฉพาะรองรับซัพพลายเออร์ในภาคยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากที่ความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลแล้ว ยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ที่มุ่งขับเคลื่อน 2 อุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

นั่นคือ ‘ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต’ (Future Mobility Hub) และ ‘ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล’ (Digital Economy Hub) และเดลต้ายังร่วมพัฒนาทุนบุคลากรในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยสร้างงานที่มีมูลค่าสูงและโอกาสทางธุรกิจให้กับประเทศอย่างมาก

 

วิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (DELTA)

 

วิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (DELTA) เปิดเผยว่า วันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่บริษัทเปิดโรงงานเดลต้าแห่งที่ 8 และศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งใหม่ นิคมอุตสาหกรรมบางปู ด้วยมูลค่าการลงทุนเกือบ 3,000 ล้านบาท

 

ปัจจัยหลักๆ เพื่อรองรับและขยายการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์พาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของบริษัทป้อนให้กับซัพพลายเออร์ไปยังลูกค้าชั้นนำระดับโลก อีกทั้งยังช่วยผลักดันมูลค่าเศรษฐกิจและทำให้ไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภูมิภาค โดยโรงงานแห่งใหม่และศูนย์วิจัยและพัฒนาทั้งสองแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 30,400 ตารางเมตร 

 

อานิสงส์ภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ผู้ผลิตต่างมองมาที่ตลาดอาเซียน 

 

อย่างไรก็ตาม ตลอด 35 ปี เดลต้าผลิตทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัท มีตั้งแต่ผลิตภัณฑ์การจัดการพลังงาน รวมไปถึงเครื่องชาร์จในตัว, ตัวแปลง DC/DC และผลิตภัณฑ์ระบบส่งกำลัง รวมทั้ง Traction Inverter และ Traction Motor โซลูชันการจัดการความร้อนและอุปกรณ์ที่ทำงานได้ด้วยตัวเอง Passive Component ส่วนที่เหลือ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) หลังจากเกิดปัญหาหลายๆ ปัจจัย ขณะนี้มีเพียงพอต่อโรงงาน ซึ่งเดลต้ายังคงนำเข้าทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดในโรงงานเดลต้าจะส่งออกไปยังยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น รวมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ 

 

 

“ขณะเดียวกันปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทำให้กลุ่มผู้ผลิตอาจมีการย้ายฐานการผลิต โดยมองมาที่ตลาดอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย เวียดนาม หรือไทย ซึ่งสำหรับไทยชัดเจนมากว่าการเข้ามาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV โดยเฉพาะค่ายรถจีนที่เข้ามาตั้งโรงงานในไทย กำลังเป็นโอกาสในการเพิ่มกำลังการผลิต ดังนั้นโรงงานใหม่แห่งนี้คาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 2 เท่า และมั่นใจว่ารายได้จากธุรกิจผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 1,200 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา เป็น 2,500 ล้านดอลลาร์”

 

ทุ่มลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) กว่า 7% 

 

วิคเตอร์กล่าวอีกว่า บริษัทวางงบลงทุน 200-300 ล้านดอลลาร์ เพื่อก่อสร้างโรงงานใหม่และซื้ออุปกรณ์สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงลงทุนด้านเครื่องจักรอัตโนมัติ อีกทั้งอยู่ระหว่างศึกษาเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน 

 

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการปีนี้ หลังจากที่ประเมินตัวเลขในช่วงไตรมาสที่ 1 เบื้องต้นคาดว่ารายได้จะเติบโตในระดับปานกลาง  

 

อย่างไรก็ตาม ทิศทางตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะพุ่งสูงขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียง 10% ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมดในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 

 

ดังนั้นนอกจากบริษัทจะให้ความสำคัญกับการขยายกำลังผลิตเพื่อป้อนให้กับซัพพลายเออร์แล้ว ยังทุ่มลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมถึงปั้นบุคลากรคนรุ่นใหม่ร่วมกับ 8 มหาวิทยาลัย ซึ่งปีนี้ได้ลงทุนด้านวิจัยถึง 7% เพื่อพัฒนาแรงงานทักษะสูงด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมไฮเทคมากขึ้น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X