×

กองทุน Thai ESG ขายหลุดเป้า คาดจบปี 66 ขายได้ต่ำกว่า 2.5 พันล้านบาท เหตุเงื่อนไขไม่จูงใจ เน้นลงทุนหุ้นไทยไร้เสน่ห์

25.12.2023
  • LOADING...
Thai ESG

ก่อนหน้านี้ผู้คนที่อยู่ในวงการตลาดทุนและภาครัฐ ทั้งกระทรวงการคลัง, กรมสรรพากร, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ต่างพยายามร่วมมือกันในการหากองทุนใหม่ที่มาสนับสนุนการออมในระยะยาว รวมถึงส่งเสริมธุรกิจที่มีด้าน ESG และยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้ด้วย

 

จนเกิดเป็นกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund: Thai ESG) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จำนวน 16 บริษัท เปิดเสนอขายกองทุนรวม Thai ESG พร้อมกันจำนวน 22 กองทุน ซึ่งมีนโยบายเน้นลงทุนสินทรัพย์ในประเทศ เช่น หุ้นหรือตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือเพื่อความยั่งยืน

 

โดย FETCO เคยประเมินว่า เฉพาะช่วง 3 สัปดาห์สุดท้ายของปี 2566 จะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในกองทุน Thai ESG ประมาณ 10,000 ล้านบาท และในปีต่อๆ ไปคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาทต่อปี

 

แต่จากข้อมูลล่าสุดที่รายงานออกมาต้องยอมรับว่าเม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาในกองทุน Thai ESG คงยากที่จะไปถึง 10,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

โดย บดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่าจากข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา มีตัวเลขเม็ดเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน Thai ESG ไปแล้วประมาณ 1,300 ล้านบาท โดยมี บลจ. ทยอยปิดการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ของ บลจ. ไปแล้ว จนปัจจุบันเหลือ บลจ. ที่ยังขายอยู่ถึงสิ้นปี 2566 อีกจำนวน 6 บลจ. โดยคาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้ Thai ESG จะมียอดขายกองทุนรวมเพิ่มไม่เกิน​ระดับประมาณ 2,500 ล้านบาท

 

สำหรับสาเหตุที่ส่งผลให้กองทุน Thai ESG มียอดมูลค่าการขายต่ำกว่าเป้าหมายของผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมซึ่งตั้งเป้าหมายไว้อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท และได้รับความสนใจค่อนข้างน้อยจากนักลงทุนด้วยสาเหตุดังนี้

 

  1. เนื่องจากกองทุน Thai ESG กำหนดเงื่อนไขหลักของกองทุนให้สินทรัพย์ที่ลงทุนไม่มีความหลากหลายมากพอ เนื่องจากให้ลงทุนได้เฉพาะในหุ้นไทยและตราสารหนี้ไทยตามหลัก ESG รวมถึง Investment Token โดยหากเปรียบเทียบกับเงื่อนไขของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่สามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลายมากกว่า ดังนั้นกองทุน LTF กับ RMF จึงมีความน่าสนใจมากกว่า

 

โดยเงื่อนไขของกองทุน Thai ESG ดังกล่าว จากการสำรวจความเห็นของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยเห็นว่าเงื่อนไขดังกล่าวไม่น่าสนใจหรือไม่มีความเซ็กซี่เพียงพอในการจูงใจให้ลงทุน โดยเฉพาะในหุ้นไทยที่ปัจจุบันมีเสน่ห์ลดน้อยลง และยังมีการเคลื่อนไหวที่ผันผวน สร้างผลตอบแทนได้ไม่ค่อยดี

 

  1. เงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ลงทุนจะต้องถือหน่วยลงทุนกองทุน Thai ESG ไว้ไม่น้อยกว่า 8 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน ซึ่งนักลงทุนมองว่ายาวนานเกินไป เมื่อเปรียบเทียบแล้วยังไม่คุ้มค่ากับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้รับกลับมา

 

“หุ้น 10 ตัวแรกที่กองทุน Thai ESG ลงทุนไม่ได้หนีไปจากชื่อหุ้น 10 ตัวแรกใน SET50 ดังนั้นมีความเห็นว่าควรเพิ่มเงื่อนไขให้กองทุนสามารถเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายมากขึ้นจากเงื่อนไขปัจจุบัน หรือเพิ่มประเภทของกองทุนอย่างกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) ที่มีเงื่อนไขของกองทุนอนุญาตให้สามารถออกไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศได้ในปีหน้าและสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ ก็คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น”

 

AIMC คาด Thai ESG ขายได้ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

 

ด้าน ชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และกรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ด้วยระยะเวลาการลงทุนที่สั้นประมาณ 3 สัปดาห์ ในการเปิดขายกองทุน Thai ESG ประเมินว่านักลงทุนส่วนใหญ่มักซื้อกองทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในช่วงท้ายปี 2566 อีกทั้งการลงทุนในกองทุน SSF, RMF และ Thai ESG มีการลงทุนที่ล่าช้ากว่าปกติ เนื่องจากมองว่านักลงทุนบางส่วนยังลังเลที่จะลงทุนเพราะมีความกังวลในทิศทางของตลาดหุ้นไทยที่มีความผันผวน ส่งผลให้สิ้นปี 2566 จะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในกองทุน Thai ESG ไม่ถึง 10,000 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาวะตลาดหุ้นไทยในระยะยาวถือว่ามีแนวโน้มดีขึ้น หลังจาก SET Index กลับมายืนเหนือระดับ 1,400 จุดได้ อีกทั้งส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมรอซื้อในสัปดาห์สุดท้ายของปี ดังนั้นจึงมองว่าในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของปี ยังมีโอกาสการลงทุนที่ดีและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นที่ดีหลังตลาดหุ้นเริ่มมีสัญญาณเชิงบวก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X