×

จากค่าแรงถึงค่าไฟ ไทยอยู่อันดับไหนในอาเซียนและโลก

31.05.2023
  • LOADING...
ค่าไฟ 

การเปลี่ยนแปลงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำอาจสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจที่เบ็ดเสร็จในตัวเอง เพราะต้นทุนธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมไปถึงค่าครองชีพที่สำคัญอีกอย่างก็คือค่าไฟ 

 

โดยประเทศไทยในฐานะขุมพลังแห่งภาคการผลิตนั้นต้องแบกรับต้นทุนแฝงอื่น ทั้งค่าอาหาร ค่าขนส่ง ค่าพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันและวัดฝีมือรัฐบาลใหม่ โดยหากแก้เงื่อนนี้ได้ก็จะทำให้ประเทศไทยมีแต้มต่อเพิ่มและความสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ แต่หากแก้ปัญหานี้ไม่ได้ก็จะกระทบต่อ FDI ไทย ที่เริ่มมีสัญญาณอันตรายแล้วว่าหลายบริษัทจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงและค่าไฟที่ถูกกว่ามาก

 

THE STANDARD WEALTH ได้สำรวจเพื่อหาคำตอบว่า “อันดับค่าไฟประเทศไทยอยู่จุดไหนเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียนและประเทศที่พัฒนาแล้ว” โดย GlobalPetrolPrices รายงานตัวเลขค่าไฟภาคครัวเรือนในกลุ่มอาเซียน พบว่าสิงคโปร์ยังมีอัตราค่าไฟสูงเป็นอันดับ 1 ส่วนไทยอยู่ในอันดับ 4 และแน่นอนว่าประเทศที่มีอัตราค่าไฟต่ำกว่าไทย คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม และเมียนมา

 

ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างเดนมาร์ก อิตาลี เยอรมนี ยังคงมีค่าไฟฟ้าแพงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอยู่ที่ 19.7 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานบอกว่า อัตราค่าไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนมีความแตกต่างกันตามประเภทผู้ใช้ ปริมาณการใช้ และช่วงเวลา รวมทั้งความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เสถียรภาพของระบบไฟฟ้า และทรัพยากรที่มีในประเทศที่ใช้ถ่านหินมากกว่า ขณะเดียวกันปริมาณการใช้ไฟฟ้าของไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทุบสถิติค่าไฟพีคสูงสุดในรอบ 3 ปีเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และขณะนี้ค่าไฟไทยได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดในช่วงเดือนไปแล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้ค่าไฟจะทยอยลดลง หลังปริมาณก๊าซอ่าวไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG) โลกปรับตัวลดลง อาจมีผลต่อการลดค่า Ft งวดถัดไปซึ่งเป็นช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนรัฐบาล

 

หันมาดูนโยบายหาเสียงของว่าที่รัฐบาลใหม่ พรรคก้าวไกล กับแนวทางการลดค่าไฟบันได 5 ขั้น โดยขั้นที่ 1 พรรคก้าวไกลจะเปลี่ยนนโยบายจัดสรรก๊าซธรรมชาติ โดยใช้กลไกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดนโยบาย ซึ่งสามารถทำได้เลยภายใน 100 วันแรก และเห็นผลในบิลค่าไฟ ลดได้ทันที 70 สตางค์ต่อหน่วยในปีแรก

 

ขั้นที่ 2 พรรคก้าวไกลจะเปลี่ยนแดดเป็นเงิน ปลดล็อกระบบขายไฟมิเตอร์หมุนกลับจากหลังคาบ้านเรือน (Net Metering) 

 

ขั้นที่ 3 เปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเลือกซื้อไฟฟ้าได้เอง ไม่ต้องถูกมัดมือชกซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยุติการรับประกันกำไรให้เจ้าสัวพลังงาน

 

ขั้นที่ 4 ชนกับกลุ่มทุนใหญ่เสือนอนกิน เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสัมปทานกับกลุ่มทุนพลังงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากค่าความพร้อมจ่าย 

 

สุดท้ายขั้นที่ 5 เตรียมเดินหน้าแผน PDP Net Zero ไม่เพิ่มโรงไฟฟ้าฟอสซิล ตั้งเป้าปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2580

 

ขณะที่พรรคเพื่อไทยจปรับลดราคาค่าไฟฟ้าตามต้นทุนราคาพลังงาน พัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตสอดคล้องกับปริมาณไฟฟ้าสำรองที่สั่งซื้อจากเอกชน พร้อมทั้งจะฟื้นฟูการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลแหล่งปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา เพื่อนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ และส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ระดับครัวเรือน โดยให้ กฟผ. ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ลดต้นทุนการผลิต

 

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

FYI
  • สาเหตุหลักค่าไฟแพงจากราคาต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะไทยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (LNG) ในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุดถึง 60% บวกกับอัตราแลกเปลี่ยนจึงส่งผลต่อค่า Ft ซึ่งการพิจารณาขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
  • ความต้องการใช้ไฟสูงสุด หรือ Peak ปี 2566 ช่วงฤดูร้อนสูงสุดในรอบ 3 ปี หรือสูงกว่า 30,936 เมกะวัตต์ เนื่องจากอุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูง ประกอบกับไทยเปิดประเทศทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามาในปริมาณที่มากขึ้น จึงส่งผลต่อค่าไฟพุ่งสูงช่วงเดือนที่ผ่านมา
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising