×

สนช. มติท่วมท้น 196-12 ขยายเวลากฎหมายเลือกตั้ง 90 วัน วิษณุแจง เลือกตั้ง ก.พ. 62 แต่ไม่การันตี

26.01.2018
  • LOADING...

(25 ม.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ใช้เวลาประชุมกว่า 11 ชั่วโมง

 

ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่มาตรา 2 ของร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไขให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายหลังพ้น 90 วัน นับจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เสนอให้มีผลบังคับใช้ภายหลังพ้น 120 วัน นับจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

และกลุ่มที่เสนอให้คงไว้ตามร่างเดิม คือมีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

โดย สนช. มีมติ 196 ต่อ 12 เสียง งดออกเสียง 14 เห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากให้ ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ภายหลังพ้น 90 วัน นับจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

วันเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนจากนี้ว่า เมื่อ สนช. พิจารณาแล้วเสร็จก็จะส่งให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งถ้า กรธ. ไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่มีการแก้ไขก็จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม โดยมีตัวแทนจาก สนช., กรธ. และ กกต. เพื่อพิจารณาปรับแก้ ก่อนจะนำมาให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาอีกครั้ง โดยนายวิษณุยอมรับด้วยว่าการคว่ำร่างอาจเกิดขึ้นได้ และส่งผลต่อโรดแมปเลือกตั้ง

 

นายวิษณุกล่าวด้วยว่า กระแสที่บอกว่าการเลือกตั้งจะยืดออกไป 1-2 ปีนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจะต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะยืด 1-2 เดือน เพราะกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ใน 90 วัน ซึ่งคงไม่กระทบการเลือกตั้งมาก เพราะจะจัดการเลือกตั้งในเดือนใดก็ได้ภายใน 150 วันหลังจากนั้น

 

ทั้งนี้ หากกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้ในเดือนมิถุนายนแล้วให้บังคับใช้ 90 วัน คือเดือนกันยายน จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน คือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ไม่ขอการันตี เพราะไม่มีหน้าที่

 

อย่างไรก็ตาม ตามกรอบเวลา รัฐบาลจะสามารถประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งได้ในเดือนมิถุนายน 2561

 

“ความจริงไม่ว่าใครในประเทศไทยก็ไม่ควรบังอาจพูดเรื่องโรดแมปวันเลือกตั้งเลย และนายกฯ ก็ไม่ควรพูดด้วยซ้ำ แต่เพราะถูกถามและคาดคั้นให้ตอบ จึงตอบจากความที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งไม่ผิด เพราะถ้านับนิ้วมือก็จะได้ช่วงเวลานั้นจริงๆ แต่พอมีปัจจัยอื่น เช่น เรื่องการยืดเวลาบังคับใช้กฎหมาย เวลาก็ต้องขยับไป” นายวิษณุกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising