×

สำรวจปัจจัยเลื่อนเลือกตั้ง หลัง ‘บิ๊กตู่’ บอกจะประกาศวันเลือกตั้งปีหน้า

09.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • การประกาศวันเลือกตั้งของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีขึ้นทุกครั้งเมื่อต้องไปเยือนประเทศมหาอำนาจหรือพบผู้นำสำคัญระดับโลก
  • กุญแจสู่การเลือกตั้งคือ ‘การประกาศใช้กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ’ ซึ่งขณะนี้เหลืออีก 2 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และการเลือกตั้ง ส.ส.  
  • ปัจจัยการเลื่อนการเลือกตั้งเวลานี้มี 2 ปัจจัยหลัก คือ การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูก และการที่ สนช. ล้มกฎหมายลูก

     ราคาที่ต้องจ่ายทุกครั้งของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อต้องไปเยือนอารยประเทศก็คือ การพูดถึงเรื่องวันเลือกตั้ง

     ช่วงต้นปี 2558 พล.อ. ประยุทธ์ เดินทางเยือนญี่ปุ่น และพูดกับ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2559

     พอมาช่วงปลายปีเดียวกัน พล.อ. ประยุทธ์ พบกับ บัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ก่อนจะให้คำมั่นว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช่วงกลางปี 2560 แต่แล้วทั้งปฏิญญาญี่ปุ่น และ UN ว่าด้วยการเลือกตั้งก็ไม่เกิดขึ้น

     ล่าสุด การเดินทางไปเยือนทำเนียบขาวตามคำเชิญของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวกับคนไทยในสหรัฐฯ ที่มาร่วมต้อนรับถึงไทม์ไลน์การเลือกตั้ง โดยคาดว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทุกฉบับ จะประกาศใช้เดือนพฤศจิกายน 2561 จากนั้นนับอีก 150 วันประกาศวันเลือกตั้ง

     หากบวกเลขเอาง่ายๆ ก็เท่ากับว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในปี 2562 ถือเป็นปฏิณญาอเมริกาว่าด้วยการเลือกตั้งของพล.อ. ประยุทธ์

 

 

เช็กสถานะกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

     รัฐธรรมนูญ 2560 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 267 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ได้แก่

  1. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.
  2. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
  3. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
  4. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

 

     ขณะที่มาตรา 268 ระบุว่า เมื่อกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับถูกประกาศใช้ ต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใน 150 วัน

     โดยขณะนี้กฎหมายลูกสำคัญ 2 ฉบับ ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว คือ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2560

     และล่าสุด 7 ตุลาคมที่ผ่านมา พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว

     เท่ากับว่าเหลือกฎหมายลูกสำคัญอีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. หากแล้วเสร็จประตูสู่การเลือกตั้งก็จะเปิดออก แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างราบรื่นง่ายดาย ในทางการเมืองรู้ดีว่า อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการชี้ขาดว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นหรือไม่ และถ้ามีจะเกิดขึ้นเมื่อใด ขณะที่ในเชิงเทคนิคทางการเมืองและกฎหมายก็พอจะมีช่องให้ชะลอการเลือกตั้งออกไปได้พอสมควร

 

 

ไทม์ไลน์กฎหมายลูก 2 ฉบับ กุญแจดอกสำคัญสู่การเลือกตั้ง

     สมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) อธิบายขั้นตอนการพิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับว่า ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะส่งมาให้ สนช.ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ส่วนร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กรธ. จะส่งมาให้ สนช. ในวันที่ 28 พฤศจิกายน

     จากนั้น สนช. มีเวลาพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน หรือประมาณสิ้นเดือน มกราคม 2561

     จากนั้น สนช. จะส่งร่างกฎหมายลูกให้ประธาน กรธ. และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องดูว่าจะมีข้อโต้แย้งต้องตั้งกรรมาธิการร่วมหรือไม่ ซึ่งจะมีขั้นตอนที่ กรธ. และองค์กรอิสระรับร่างไปพิจารณา 10 วัน หากมีขั้นตอนตั้งกรรมาธิการร่วม ก็จะใช้เวลาอีก 15วัน

     จากนั้นก็เป็นการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม สนช. ให้ความเห็นชอบ ถ้า สนช. เห็นชอบ ต้องตรวจสอบความถูกต้องของร่างกฎหมายทั้งหมดก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรี ขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาอีกเกือบ 2 เดือน หรือประมาณเดือนเมษายน 2561

     เมื่อส่งร่างกฎหมายลูกไปให้นายกฯ แล้วก็ต้องเก็บเรื่องไว้ก่อน เพื่อดูว่าจะมีใครยื่นเรื่องคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ คาดว่าจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ประมาณเดือนพฤษภาคม 2561 และรอการโปรดเกล้าฯ ลงมาอีก 3 เดือน เมื่อโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว นับไปอีก 150 วัน จึงจัดการเลือกตั้งได้

 

ช่องทางเลื่อนเลือกตั้ง 1 : ส่งกฎหมายลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

     ตามไทม์ไลน์กฎหมายลูก 2 ฉบับ มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การจะมีผู้ยื่นคัดค้านกฎหมายลูกต่อต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่?

     โดยช่องนี้ สมชายกล่าวว่า หากก่อนนายกฯ นำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ปรากฏว่ามีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูก ต้องเสียเวลาออกไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งไม่รู้จะใช้เวลาเท่าใด ซึ่งต้องยอมรับว่าร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีข้อทักท้วงเรื่องวิธีการเลือกตั้งมากมาย ส่วนร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ก็เป็นการนำมาใช้ครั้งแรก

     สมชายเห็นว่า ไม่อยากให้ไปเร่งรัดระยะเวลาเลือกตั้ง เพราะถ้ายังมีปัญหาอยู่แล้วไปเลือกตั้ง ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิมอีก ถ้าจะล่าช้าออกไป 2-3 เดือน คงไม่เป็นไร นักการเมืองต่างหากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองแล้วหรือยัง

     วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเป็นตัวแปรที่ไม่ได้อยู่ในโรดแมป เพราะหากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ เห็นว่ากฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องจะขัดกับรัฐธรรมนูญ เขาจะขอให้เบรกก่อนนำความกราบบังคมทูลโดยยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะไปชักช้าอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ

     เช่น กฎหมายกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ผ่านสภาแล้ว แต่ต้องการยื่นศาลรัฐธรรมนูญแต่ยื่นไม่ได้ จึงส่งเรื่องมาให้นายกฯ เป็นผู้ยื่น ถ้านายกฯ ส่งก็ต้องเลี้ยวไปหาศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะใช้เวลานานเท่าไรตนไม่รู้ เพราะไม่มีกรอบเวลากำหนด

     มีการวิเคราะห์ต่อไปอีกว่า หากมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูกจริงๆ ก็มีตัวแปรที่ทำให้เรื่องอาจล่าช้าอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญนานขึ้น เมื่ออาจจะต้องมีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ ตามร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. ซึ่งอาจทำให้เรื่องต้องแขวนอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะได้ตุลาการชุดใหม่มาพิจารณา

 

ช่องทางเลื่อนเลือกตั้ง 2 : ให้ สนช. ล้มกฎหมายลูก

     สื่อมวลชนหลายสำนักให้น้ำหนักกับช่องทางนี้เป็นพิเศษ เนื่องจาก สนช. ถูกแต่งตั้งสั่งการโดย คสช. การออกใบสั่งให้ สนช. ‘รับ’ หรือ ‘ล้ม’ กฎหมายใดย่อมทำได้โดยง่าย กระแสข่าวที่ว่า คสช. อาจสั่งคว่ำกฎหมายลูกฉบับใดฉบับหนึ่ง เพื่อให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปมีขึ้นมาสักพักแล้ว แต่มาโดดเด่นยิ่งขึ้นหลัง พล.อ. ประยุทธ์ ประกาศปฏิญญาอเมริกาว่าด้วยการเลือกตั้ง

     กรณี สนช.คว่ำร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายเพื่อยืดวันเลือกตั้งนั้น สนช. ต้องมีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะเกิดสุญญากาศทางการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ระบุว่า หากกฎหมายลูกไม่ผ่าน สนช. แล้วจะทำอย่างไรต่อไป

     ถามว่าจะให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญกลับไปร่างกฎหมายลูกใหม่ได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า กรรมการร่างฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งภายใน 240 วันนับจากวันที่ทำกฎหมายลูกเสร็จ

     หาก สนช. ล้มกฎหมายลูกจริงๆ เท่ากับว่าอำนาจการตัดสินใจทุกอย่างจะกลับไปอยู่ที่ คสช. อีกครั้ง โดย คสช. อาจสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อแก้ปัญหา ซึ่งเท่ากับว่าการเลือกตั้งก็จะเลื่อนออกไป และไม่เป็นไปตามโรดแมปเดิม

     คำถามว่า “เลือกตั้งเมื่อไร?” เป็นคำถามกวนใจ คสช. ที่เริ่มส่งเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ เพราะนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ปฏิทินการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งก็ปรากฏชัดคล้ายเป็นการมัดตัว

     การส่งสัญญาณประกาศวันเลือกตั้งดังมาจากสหรัฐอเมริกาของ พล.อ. ประยุทธ์ อาจเป็นการตั้งใจส่งสัญญาณวันเลือกตั้งจริงๆ ตามกรอบที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ ในเวลาเดียวกันก็มีกระแสความคลางแคลงใจของสังคมเกี่ยวกับวันเลือกตั้ง อันเป็นผลมาจากการเลื่อนแล้วเลื่อนอีก นับถึงวันนี้ก็ 3 ปีเข้าไปแล้วเป็นอย่างน้อย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising