ช่วงนี้บทสนทนาที่คนชวนคุยเยอะที่สุดคงหนีไม่พ้นจะเลือกพรรคอะไร ข่าวที่หลั่งไหลมากที่สุดก็คือ ไม้ตายสุดท้ายของแต่ละพรรคในการหาเสียง
เท่าที่ผมสังเกตจากการได้ทำงานด้านสื่อมวลชน ผมพบเหตุผลในการกาบัตรของคนสักคน ประกอบด้วยปัจจัยหลัก 3 ข้อ คือ
- ความเชื่อ
- ความรู้สึก
- ความรู้
- 14 พ.ค. นี้ ชวนติดตาม ผลการเลือกตั้ง 2566 แบบเรียลไทม์หลังปิดหีบ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ที่ https://election2566.thestandard.co/
หนึ่ง ความเชื่อ น่าจะเป็นประตูบานแรกหรือปัจจัยแรกที่สำคัญที่สุดที่คนใช้ตัดสินใจ
ความเชื่อ คือ อุดมการณ์ ขั้วอำนาจ คุณค่า และค่านิยม ที่เราเชื่อตรงกับพรรคนั้นๆ เช่น เสรีนิยมหรืออนุรักษนิยม กระจายอำนาจหรือรวมศูนย์อำนาจ เปลี่ยนใหม่หรือเหมือนเดิม ประชาธิปไตยสากลหรือประชาธิปไตยไทยนิยม
แม้กระทั่งความเชื่อส่วนบุคคลในแง่มุมต่างๆ ที่คุณเชื่อมโยงกับความเชื่อของพรรคนั้น เปรียบเสมือนคุณได้ค้นพบตัวตนของคุณที่หล่นหายอยู่ในนั้น
สอง ความรู้สึก คือ ความนิยมชมชอบหรือเกลียดชังเข็ดขยาด ที่ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล โดยเฉพาะอารมณ์ความรู้สึกระหว่างคนกับคนด้วยกัน นั่นคือความรู้สึกที่คุณมีต่อแคนดิเดตนายกฯ และผู้นำของแต่ละพรรค
คุณอาจจะรู้สึกใช่ โดนใจ และถูกชะตากับคนคนนั้นจากหน้าตา บุคลิก การพูดจา การแสดงออก หรือคุณอาจจะรำคาญ สุดขยะแขยง และถึงขั้นเหม็นขี้หน้ากับบางกิริยาท่าทางของผู้นำบางคน
ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง เราจะพบกลยุทธ์ในการโน้มน้าวคนด้วยวิธีการนี้เยอะมาก โดยเฉพาะการใช้ความกลัวหรือความเกลียดชังมาเป็นตัวกระตุ้น
สาม ความรู้ ผมไม่ได้หมายถึงความรู้ทางวิชาการนะครับ แต่หมายถึงสิ่งที่เราคิด ไตร่ตรอง วิเคราะห์ มาอย่างเป็นเหตุเป็นผล พยายามตัดอารมณ์ความรู้สึกออกไปให้ได้มากที่สุด
ความรู้ในที่นี้ก็เช่น นโยบายของแต่ละพรรค ความรู้ความสามารถในความเป็นผู้นำของแคนดิเดต ผลประโยชน์ที่จะได้รับจาก ส.ส. เขตในพื้นที่ ประสบการณ์ในอดีตที่อาจส่งผลต่อการทำงาน
หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งแบบมียุทธศาสตร์ การเลือกโดยคิดถึงความเป็นไปได้ ฉากทัศน์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น พูดง่ายๆ คือตัดความรู้สึกและความเชื่อออก แต่ดูที่ความเป็นไปได้เป็นน้ำหนักสำคัญในการตัดสินใจ
3 ปัจจัยนี้แต่ละคนก็จะให้น้ำหนักที่แตกต่างกันออกไป บางคนใช้ความเชื่อนำ บางคนใช้ความรู้สึกนำ ไม่มีผิดไม่มีถูก นี่คือความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน
แต่เนื่องจากประเทศไทยในวันนี้อยู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จุดหักเหทางประวัติศาสตร์ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ และเทคโนโลยี เราจะบริหารประเทศแบบ Autopilot โดยปล่อยเกียร์ว่างไม่ได้
บทบาทของผู้นำในชั่วโมงนี้จึงมีความสำคัญสูงมาก
ผมอยากจะชวนคิด ชวนถาม เพื่อประกอบการตัดสินใจเพิ่ม โดยนำ 3 ปัจจัย ความเชื่อ ความรู้สึก และความรู้ บวกความเป็นผู้นำ ประมวลเป็น 7 คำถาม
- ผู้นำคนนั้นเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกแค่ไหน เข้าใจจุดแข็ง-จุดอ่อนของไทยหรือเปล่า มีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์เพียงพอจริงไหม ที่จะพาไทยเกาะไปกับคลื่นแห่งอนาคต
- ผู้นำคนนั้นทำงานได้จริงหรือไม่ ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงได้หรือเปล่า ทำให้กลยุทธ์เป็นรูปธรรมได้ไหม เขาและทีมมีความสามารถในการตัดสินใจ จัดลำดับความสำคัญ บริหารงานให้เกิด Productivity ได้มากน้อยแค่ไหน
- ผู้นำคนนั้นเป็น ‘ตัวกลาง’ จัดการความขัดแย้ง หรือเป็น ‘ใจกลาง’ ความขัดแย้งให้มันแย่ลง เขามีศิลปะในการทำงานกับคนที่คิดต่างได้ไหม
- ผู้นำคนนั้นเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยอมรับใน Diversity เห็นหัวประชาชนว่าเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันหรือไม่
- ผู้นำคนนั้นเข้าใจและมีวิธีการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ช่องว่าง และความถ่าง ของ ‘คนมี’ กับ ‘ไม่มี’ หรือเปล่า
- ผู้นำคนนั้น ถ้ามานำคุณ คุณอยากทำงานกับเขาไหม คุณพร้อมตามเขาไหม ถ้าคุณมีลูกจะไว้ใจให้ลูกทำงานกับเขาไหม คุณจะฝากอนาคตของหลานคุณให้กับเขาได้ไหม
- ผู้นำคนนั้นพร้อมจะล้มแล้วลุก เผชิญอุปสรรค ต่อสู้ มี Commitment มี Passion และความอึดในการทำงานการเมืองจริงหรือเปล่า เขาพร้อมจะผิดหวัง ล้มเหลว และเสียสละ มากน้อยแค่ไหน
14 พฤษภาคมนี้ ไม่ว่าคุณจะเลือกใครด้วยเหตุผลใด ผมสนับสนุนให้ทุกคนออกไปปล่อยพลัง ส่งเสียง แสดงเจตจำนง กาบัตรเลือกตั้งด้วยความมั่นใจ
กาคนที่หัวใจคุณเรียกร้อง คนที่ทำให้หัวใจสั่นไหว คนที่ทำให้หัวใจเต้นแรง เมื่อเดินออกจากคูหา คุณจะไม่เสียดาย ไม่เสียใจ และจะไม่หันหลังกลับไป
นครินทร์ วนกิจไพบูลย์