ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และส่งผลต่อการขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคด้วย โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล (PLoans) จะพบว่าช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ยอดคงค้างสินเชื่อ PLoans ที่หดตัวลงถึง 3.5% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 โดยสินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีหลักประกันหดตัวลงถึง 7.5% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562
ทั้งนี้สินเชื่อ PLoans มีจำนวนบัญชีคงค้าง 16.6 ล้านบัญชี เป็นรองเพียงบัญชีบัตรเครดิตซึ่งมีอยู่ประมาณ 24.0 ล้านบัญชี ขณะที่ในมิติสินเชื่อคงค้างพบว่า PLoans มียอดคงค้างที่ 5.59 แสนล้านบาท สูงกว่าสินเชื่อบัตรเครดิตที่มียอดคงค้าง 3.99 แสนล้านบาทอยู่ประมาณ 1.4 เท่า ซึ่งสาเหตุหลักมาจาก PLoans เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่ออเนกประสงค์ที่เสมือนเป็นที่พึ่งพายามฉุกเฉินและเข้าถึงคนหลายกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม ตามปกติในไตรมาสสุดท้ายของปีมักเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับธุรกิจสินเชื่ออุปโภคบริโภค รวมถึงสินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีประกัน อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าสถานการณ์ในช่วงสุดท้ายของปีนี้อาจดูแตกต่างไปจากปีอื่นๆ เนื่องจากผู้ประกอบการ PLoans ทั้งธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์มีโจทย์สำคัญอย่างน้อย 3 โจทย์ในเวลานี้ ได้แก่ การเร่งช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง การเตรียมความพร้อมรับปัญหาคุณภาพสินเชื่อ และการปรับกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าความเสี่ยงต่ำ
สำหรับแนวโน้มในปี 2563 นั้น จากผลของการดำเนินการเชิงรุกในการปรับโครงสร้างหนี้และการจัดการปัญหาคุณภาพของสินเชื่อด้วยการตัดขายหนี้เสีย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า NPLs ของสินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีหลักประกันทั้งระบบอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่เกินกรอบ 4% ในปีนี้ ขณะที่ผลจากการตัดขายหนี้เสียและสินเชื่อ PLoans ปล่อยใหม่ที่ยังฟื้นตัวในกรอบจำกัด ทำให้สินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีหลักประกันทั้งระบบอาจปิดสิ้นปี 2563 ที่ระดับประมาณ -6% (พอร์ตของธนาคารพาณิชย์หดตัว 13% ส่วนพอร์ตของนอนแบงก์เติบโต 0.5%)
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์