วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2563 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปลายปี
ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เห็นได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ลดลง 9.4% ต่อปี ซึ่งลดลงจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ชะลอตัว และปัจจัยฐานสูงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ลดลง -25.9% และ -11.0% ต่อปี ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 50.9 ปรับตัวดีขึ้นบางส่วนจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงปลายปี รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้มากขึ้น
ขณะที่ภาคการลงทุน ภาคเอกชนส่งสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว 2.8% จากเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล ด้านปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนลดลง 17.0% ต่อปี ส่วนการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ลดลง 9.1% ต่อปี
ในขณะที่การจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 0.7% จากเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวชะลอลงจาก 3.2% ต่อปีช่วงเดียวกันปีก่อน
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐชะลอตัว 6.7% ต่อปี จากการลดลงของการส่งออกสินค้าในหมวดสำคัญ เช่น หมวดสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมถึงหมวดรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อย่างไรก็ดี สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่
- สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์มและอาหารสัตว์เลี้ยงที่ขยายตัวร้อยละ 183.0% และ 17.4% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการส่งออกเครื่องปรุงรสและผักผลไม้สด แช่แข็งกระป๋องและแปรรูปที่ขยายตัวต่อเนื่อง
- สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น
- สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยางที่ขยายตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า
โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทยพบว่า การส่งออกไปอาเซียน 9 ประเทศ ชะลอตัว 23.1% ต่อปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบที่ 2 อย่างไรก็ดี การส่งออกไปสหรัฐฯ และทวีปออสเตรเลีย ยังขยายตัวต่อเนื่องที่ 17.0% และ 4.2% ต่อปี ตามลำดับ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 86.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าคงทน ส่งผลให้ภาคการผลิตมีการฟื้นตัวตามอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านการท่องเที่ยวและการบริโภคสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าและรายได้ของผู้ประกอบการ สำหรับภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงเล็กน้อยที่ 0.2% ต่อปี จากการลดลงของผลผลิตยางพารา ลองกอง สับปะรด และกุ้งขาวแวนนาไม เป็นต้น
ขณะที่ด้านบริการและการท่องเที่ยวเดือนตุลาคม 2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa) กลุ่มแรกได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศจำนวน 1,201 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน กัมพูชา และประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
สุดท้ายนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -0.5% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.2% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ร้อยละ 49.4 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 248.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล