×

เศรษฐกิจไทยติดบ่วง! การส่งออก พ.ย. ปีนี้ติดลบ 7.4% การนำเข้าหดตัว 13.8%

23.12.2019
  • LOADING...

ตั้งแต่ต้นปี เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยอย่างการส่งออกหดตัวจากสงครามการค้า เศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว และปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2562 การส่งออกยังต่อเนื่อง

 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า เดือนพฤศจิกายน 2562 มูลค่าการส่งออกของไทยในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 19,657 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 7.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 19,108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 13.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ปัจจุบันการค้าไทยเกินดุล 549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ทั้งนี้ หากดูภาพรวมตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2562 การส่งออกไทยอยู่ที่ 227,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านการนำเข้าอยู่ที่ 218,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.2% ซึ่งทำให้การค้าเกินดุล 9,009 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ทางกระทรวงพาณิชย์มองว่าการส่งออกไทย ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวจากสงครามการค้า โดยสินค้ากลุ่มน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่องกัน เช่น การส่งออกน้ำมัน เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ จะหดตัวเพราะมีปัจจัยชั่วคราวในการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันในประเทศช่วงปลายปี 

 

ตลาดส่งออกที่หดตัว เช่น

  • ตลาดสหรัฐฯ หดตัว 2.6% โดยสินค้าที่หดตัว ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ยาง 
  • ตลาดสหภาพยุโรป หดตัว 8.2% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องยนต์สันดาปฯ อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรกขยายตัวทุกสินค้า ประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ อัญมณีและเครื่องประดับ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ 
  • ตลาดญี่ปุ่น หดตัว 10.9% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง
  • ตลาดเอเชียใต้ หดตัว 15.2% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลฯ และเม็ดพลาสติก ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ และน้ำตาลทราย
  • อาเซียน-5 หดตัว 11.1% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลฯ และเม็ดพลาสติก ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ และน้ำตาลทราย
  • CLMV หดตัว 9.3% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ เคมีภัณฑ์ และอัญมณีและเครื่องประดับ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำตาลทราย รถยนต์ สินค้าปศุสัตว์ และเครื่องดื่ม 

 

ทั้งนี้ การส่งออกไปตลาดจีนที่ยังเติบโต 2.3% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ เครื่องยนต์สันดาปฯ น้ำตาลทราย และ เม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2562 หดตัว 4.7% 

 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 3.6% สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ข้าว และยางพารา ส่วนสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย, ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป, ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ฯลฯ ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2562 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ 2.4%

 

นอกจากนี้ เดือนพฤศจิกายน 2562 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวที่ 6.4% สินค้าที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ, ทองคำ สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน, รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทอง, เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ในภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ 1.9%

 

ทั้งปี 2562 กระทรวงพาณิชย์มองแนวโน้มการส่งออกของไทยยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวจากสงครามการค้า ฯลฯ โดยคาดว่าช่วงต้นปี 2563 การส่งออกจะได้รับผลดีจากการผลิตสินค้ากลุ่มน้ำมันทั้งหมดกลับมาสู่สภาวะปกติ โดยมีปัจจัยที่ต้องจับตามองได้แก่ 

  • ข้อตกลงทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซึ่งการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศนี้ในระยะที่ 2 ยังมีความไม่แน่นอน 
  • การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) 
  • แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง
  • ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ กดดันแนวโน้มการส่งออกไทยในระยะสั้น-กลาง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising