×

ผู้ว่าฯ​ ธปท. ชี้เศรษฐกิจไทยต้อง Resilience เพื่อรับความเสี่ยงใหม่และบริบทโลกที่เปลี่ยนไป

03.11.2023
  • LOADING...
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Thailand Next Move 2024 โดยระบุว่า นอกจากความเสี่ยงในรูปแบบเดิมๆ เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์และการรักษาดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงเพื่อดูแลเงินเฟ้อของธนาคารกลางหลักในหลายประเทศแล้ว ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกยังเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ ที่คาดการณ์ผลที่จะตามมาได้ยากกว่าความเสี่ยงแบบเดิม ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการสู้รบในอิสราเอล

 

เศรษฐพุฒิระบุว่า ปัญหาในภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นความเสี่ยงที่ประเมินผลกระทบได้ยากมาก เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่เราคำนึงไม่ถึง (Unintended Consequences) เกิดขึ้นหลายประการ ยกตัวอย่าง กรณีเหตุการณ์ 9/11 ที่ในช่วงแรกคนประเมินว่าจะเกิดผลกระทบกับการท่องเที่ยวในอเมริการุนแรงแต่ก็ไม่เกิดขึ้น แต่กลายเป็นว่าสหรัฐฯ ไปบุกอิรักแล้วนำไปสู่เหตุการณ์อะไรหลายอย่างตามมาเป็นลูกโซ่

 

ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุอีกว่า การดูแลเศรษฐกิจไทยให้มีความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนในยามที่มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้ หัวใจสำคัญคือการมี Resilience ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่เสถียรภาพ (Stability) แต่ครอบคลุมถึงความทนทาน ความยืดหยุ่น และความสามารถในการลุกได้เร็วเมื่อสะดุดล้ม อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจจะ Resilient ได้นั้นจะต้องมี 3 องค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่

  1. เสถียรภาพ (Stability) เช่น ในกรณีของไทยคือเงินเฟ้อไม่สูงเกินไป อยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% เศรษฐกิจเติบโตในระดับที่เหมาะสมกับศักยภาพของประเทศที่ 3-4% ต่อปี ระบบสถาบันการเงินมีความสมดุล ไม่เปราะบาง ซึ่งในปัจจุบันเสถียรภาพโดยรวมของไทยยังถือว่าโอเค โอกาสเกิดวิกฤตต่ำ แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ

 

“เสถียรภาพในมิติต่างประเทศของเราค่อนข้างโอเค ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุล ทุนสำรองฯ ที่อยู่ในระดับสูง หนี้ต่างประเทศที่ต่ำ และงบดุลของธนาคารและธุรกิจขนาดใหญ่ที่ดูดี แต่ที่ดูโอเคน้อยหน่อยคือหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 91% ต่อ GDP และระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 62% ต่อ GDP ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดที่เราเคยเห็นมา สูงกว่าในช่วงวิกฤตปี 2540 ทำให้ต้องใส่ใจและระมัดระวัง” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวอีกว่า แม้ความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตของไทยยังต่ำ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่สะท้อนความกังวลของตลาด เช่น ตัวเลขเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกสุทธิ 8.4 พันล้านดอลลาร์นับจากต้นปี สวนทางกับประเทศอื่นในภูมิภาคที่มีเงินทุนไหลเข้าเป็นบวก ค่าเงินบาทที่ผันผวนมากถึง 8-9% สูงเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค และ Credit Default Swap หรือ CDS ของไทยที่วิ่งจากระดับ 50 bps ไปอยู่ที่ 70 bps

 

  1. ภูมิคุ้มกันทางการเงิน (Buffer) ที่จะคอยกันชนที่ช่วยลดแรงกระแทกเมื่อเกิดช็อกทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาวะที่เราไม่รู้แน่ชัดว่าช็อกจะมาในรูปแบบใด การมีภูมิคุ้มกันไว้เยอะๆ จะยิ่งมีความจำเป็น ซึ่งภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจที่สำคัญล้วนเป็นเรื่องพื้นฐาน เช่น การมีงบดุลที่แข็งแรงทั้งภาครัฐและภาคธนาคาร ขณะที่ภาคธุรกิจก็ไม่ควรมีสัดส่วนหนี้ต่อทุนที่สูงเกินไป เช่นเดียวกับภาคครัวเรือนที่ต้องระมัดระวังการก่อหนี้

 

อีกหนึ่งเรื่องที่มีความสำคัญคือการมีพื้นที่ว่างทางนโยบายหรือ Policy Space ที่เพียงพอไว้รองรับเมื่อเกิดวิกฤต โดยกระสุนในฝั่งทางเงินคือดอกเบี้ย ขณะที่ฝั่งการคลังก็ต้องเตรียมกระสุนไว้สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจในยามจำเป็น

 

  1. การเติบโตจากโอกาสใหม่ (Digital & Transition) ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า เมื่อเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ๆ ประเทศก็ต้องสร้างทางเลือกและโอกาสในการเติบโตใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากบริบทของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะพบว่าการเติบโตค่อนข้างนิ่ง ไม่สามารถสร้างโอกาสที่เป็นความหวังให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจได้มากพอ

 

“เราคงโตแบบเดิมไม่ได้แล้วหากดูจากบริบทโลกที่เปลี่ยนไป เช่น เรื่องกระแสความยั่งยืน ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของแรงงานไทยอยู่ในภาคเกษตรและ 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมก็เป็นอุตสาหกรรมสำหรับโลกเก่า เช่น ปิโตร เคมี ยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีเก่า การโตแบบเดิมจะไม่ช่วยให้เรากระจายผลประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

ผู้ว่าฯ​ ธปท. กล่าวอีกว่า ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP) ซึ่งไม่หักเงินเฟ้อของไทยโตขึ้นมาเกือบ 3 เท่า แต่เมื่อเจาะลงไปดูว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นกระจายตัวอย่างไร จะพบว่า รายได้ของภาครัฐเพิ่มขึ้น 2.7 เท่า รายได้ของแรงงานเพิ่มขึ้น 2.7 เท่า ขณะที่กำไรของธุรกิจโตขึ้นเกือบ 5 เท่า ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นกำไรที่กระจุกอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่

 

“ที่ผ่านมาเราไปสนใจกับตัวเลขการเติบโตค่อนข้างมาก แต่ไม่ค่อยใส่ใจว่าการเติบโตไปตกอยู่กับกลุ่มใด ผลประโยชน์ถูกกระจายอย่างทั่วถึงหรือไม่ หรือเราโตจากฐานที่แคบๆ ถ้าเรายังไม่ปรับเปลี่ยนและเติบโตในรูปแบบนี้ต่อไปโดยไม่สามารถกระจายการเติบโตหรือผลประโยชน์ไปยังกลุ่ม โอกาสที่เราจะโตแบบ Resilient บนฐานที่กว้างขึ้นได้คงลำบาก” ผู้ว่าฯ​ ธปท. กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising